แบงก์แห่แจ้งลูกค้าฝากเงินต้องยืนยันตัวตน ทำได้ 2 รูปแบบ เริ่ม 11 พ.ย.นี้

ATM

ธนาคารทยอยแจ้งลูกค้าฝากเงินสดผ่านเครื่อง CDM ตั้งแต่ 11 พ.ย.เป็นต้นไป ต้องยืนยันตัวตนผ่าน 2 ทางเลือก กรณีบัตรประชาชน-เบอร์มือถือ วงเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือ บัตรเอทีเอ็ม-เดบิต-เครดิต สูงสูด 1 แสนบาท หวังสกัดการฟอกเงิน

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย (TBA) ประกาศวิธีการแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ทยยอยออกประกาศและสื่อสารประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าวบนช่องทางสื่อสารบนเว็บไซต์ธนาคารและเพจเฟสบุ๊ก เพื่อแจ้งแก่ลูกค้าให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว

สำหรับที่มาของ การแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM นั้น เนื่องจาก CDM เป็นช่องทางของการฟอกเงินที่ได้จากการก่ออาชญากรรม ยาเสพติด และการพนัน รวมถึงการหลอกลวงทางการเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อส่งผ่านไปยังผู้กระทำผิด

โดยไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินและไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการยืนยันตัวตนของผู้ฝากเงิน

ทั้งนี้ วิธีการแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM จะคำนึงถึงความสะดวกของผู้ใช้บริการ และไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น การแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ

1. ผู้ฝากเงินใส่หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของตน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และรหัส OTP (One-Time Password) ที่ได้รับ โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 30,000 บาท ต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)

2. ผู้ฝากเงินใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของตน ร่วมกับรหัสส่วนตัว (PIN) โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 100,000 บาท ต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)

ทั้งนี้ การแสดงตนที่ตู้ CDM ด้วยวิธีการดังกล่าว จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดยในระยะต่อไป ปปง. ธปท. และสมาคมธนาคารไทย จะประเมินผลการดำเนินการ เพื่อพัฒนาทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป ซึ่งรายละเอียดและเงื่อนไขการให้บริการสามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์ธนาคาร หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ของธนาคารที่ใช้บริการ