ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งสูงขึ้น เฟดอาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม

ดอลลาร์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่พุ่งสูงขึ้นของสหรัฐ อาจทำให้เฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม หลังประธานเฟดสาขาดัลลัสออกมาระบุว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐ และภาวะการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นจากการดำเนินแบบเข้มงวด 

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/10) ที่ระดับ 36.88/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/10) ที่ระดับ 37.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าหลังนางลอรี โลแกน ประธานเฟดสาขาดัลลัส ได้ออกมาให้ความเห็นเชิง Dovish ว่าการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐ และภาวะการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นจากการดำเนินแบบเข้มงวด โดยนับตั้งแต่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น อาจส่งผลให้เฟดมีความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นน้อยลง

ทางด้านนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกได้กล่าวในทำนองเดียวกับนางโลแกน ว่าเฟดไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายที่ผ่านมามีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะประชุมนโยบายการเงินในเดือน พ.ย. โดยสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ย. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ย.ในวันที่ 11 และ 12 ต.ค.ในลำดับ

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจับตาดูนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา ที่จะมีการแจกเงินคนละหนึ่งหมื่นบาทให้กับประชาชน 56 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณถึง 560,000 ล้านบาท แม้ว่านโยบายนี้จะได้รับเสียงทักท้วงจากหลายฝ่ายว่าการดำเนินนโยบายนี้อาจสร้างปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้น แต่นายเศรษฐายืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกนโยบายนี้ แต่รับปากว่าจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและนำมาปรับปรุงตัวนโยบาย

โดยทางนายเศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายนี้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องการเงินหนึ่งหมื่นบาท เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาโดยตรงกับทางด้านการบริโภค แต่มีปัญหามาจากการลงทุน โดยได้มีการเสนอว่าให้ดำเนินนโยบายแบบพุ่งเป้ามากกว่า เพราะจะใช้งบประมาณที่น้อยลง แน่นอนว่าการที่ทำนโยบายนี้จะทำให้ประเทศมีภาระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของระบบเศรษฐกิจ

ทางด้าน KKP Research ประเมินว่านโยบายของภาครัฐใช้งบประมาณถึง 3.6% ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 1% ของ GDP ซึ่งอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย โดยต้นทุนของการดำเนินนโยบายนี้อาจกระทบต่อเสถียรภาพของอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.82-36.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/10) ที่ระดับ 1.0573/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/10) ที่ระดับ 1.0534/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สรัฐ ทางด้านกรรมการธนาคารกลางยุโรปได้กล่าวว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่เกิดขึ้นในขณะนี้คงเป็นรื่องที่ยังไม่เหมาะสม

Advertisment

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0554-1.0611 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0602/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/10) ที่ระดับ 148.52/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/10) ที่ระดับ 149.12/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เยนยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ

ทั้งนี้ทาง BOJ ได้มีการปรับการคาดการณ์ว่าในปี 2024 ดัชนีผู้บริโภคพื้นฐานจะอยู่ประมาณ 3% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกับที่ได้เคยประกาศไว้ก่อนหน้าว่าในปี 2024 ญี่ปุ่นจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.40-149.07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน ก.ย. จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) (10/10), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ส.ค.สหรัฐ (10/10), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ย. ของสหรัฐ (11/10), รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 19-20 ก.ย.(12/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (12/10), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ย.ของสหรัฐ (12/10), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (12/10) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ต.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (13/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.0/-9.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.5/-8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ