ปั้น “ซูเปอร์แอป” แจกเงินดิจิทัล “จุลพันธ์” มอบสมาคมแบงก์จัดการระบบ

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

“จุลพันธ์” มอบหมายสมาคมแบงก์ปั้น “ซูเปอร์แอปแห่งชาติ” ช่องทางแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เหตุมีประสบการณ์ทำระบบมาก่อนแล้ว ดึงตำรวจร่วมป้องกันโกง-มหาดไทยช่วยเช็กร้านค้านอกระบบภาษี ฟาก “เลขาธิการนายกฯ” เผยแหล่งที่มาของงบฯ 560,000 ล้าน ชี้มี 3 ทางเลือก ระบุกรณียืมเงินหน่วยงานของรัฐมาก่อนจะตั้งงบฯ ใช้คืนใน 3 ปี

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เปิดเผยว่า การประชุมอนุกรรมการครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ได้มีการแจกจ่ายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

ทั้งเรื่องวัตถุประสงค์โครงการ เรื่องแหล่งที่มาของเงิน เรื่องการป้องกันการทุจริต และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะกลับมาประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 19 ต.ค. เพื่อสรุปรายละเอียดทั้งหมด แล้วนำไปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย หรือคณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะประชุมในวันที่ 24 ต.ค.ต่อไป

“ได้มีการมอบหมายให้ทางสมาคมธนาคารไปพิจารณาในบางเรื่อง เช่น เรื่องของผู้ทำระบบ ซึ่งเป็นระบบใหม่ ที่จะเติมเงิน ที่เรียกว่า e-Money แต่เป็น e-Money ที่มีเงื่อนไขผ่านทางกระเป๋าเงินดิจิทัล ทั้งนี้ เราต้องการสร้างพื้นฐานขึ้นมา

คือ ระบบบล็อกเชน เป็น national blockchain ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาว จะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมา เป็น National Super App ที่จะเป็นศูนย์รวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ID, ใบขับขี่, 30 บาท, เป็น e-Government อย่างสมบูรณ์”

Advertisment

นายจุลพันธ์กล่าวว่า การที่ต้องให้สมาคมแบงก์รับไปดูเรื่องระบบ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำระบบ

ขณะที่อนุกรรมการที่เป็นตำรวจ ก็จะไปดูเรื่องป้องกันการโกง การทุจริต ส่วนกระทรวงมหาดไทยก็จะช่วยดูเรื่องป้องกันโกงเช่นกัน แต่จะรวมถึงการช่วยยืนยันร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ในส่วนของร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี

“เรื่องการลงทะเบียนร้านค้าที่ออกไป ว่าจะเริ่มเดือน พ.ย. ตอนนั้นผมคิดเร็วไปหน่อย มีผู้สื่อข่าวมาถาม ต้องขอโทษด้วย จริง ๆ แล้วยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเริ่มเมื่อไหร่”

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ไม่ว่าจะร้านหมูปิ้งหรืออะไรก็ตาม แต่จะไม่สามารถขึ้นเงินได้ ผู้ที่จะขึ้นเงินได้ ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

Advertisment

รมช.คลังกล่าวด้วยว่า ได้มีการเน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายนี้ และย้ำเรื่องการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย หลักวินัยทางการเงินการคลังที่ต้องยึด ซึ่งการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ก็พร้อมให้ความร่วมมือและจะไปชี้แจงด้วยตัวเอง

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ 560,000 ล้านบาท สำหรับแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า มีทางเลือก 3 ทาง ซึ่งอาจใช้หลายแนวทางผสมกัน โดยให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ พิจารณาในรายละเอียด บนพื้นฐานว่าการทำโครงการนี้จะไม่กระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ

ทางเลือกที่ 1 คือ การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ด้วยการลดคำของบประมาณจากหน่วยงานบางแห่ง และเลื่อนการจัดซื้อรายการใหญ่ ๆ ออกไป รวมทั้งชะลอการสร้างอาคารใหม่ของส่วนราชการ

ทางเลือกที่ 2 คือ การใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานของรัฐออกเงินให้ก่อน ซึ่งรัฐบาลอาจใช้ช่องทางนี้ในการจัดหาแหล่งเงินทุน 200,000-300,000 ล้านบาท หากเลือกวิธีนี้ก็ต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และรัฐบาลมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาคืนให้อย่างชัดเจน โดยได้เตรียมแผนรองรับในการใช้หนี้ทุกปีงบประมาณ ปีละ 100,000 ล้านบาท และจะใช้หมดภายใน 3 ปี

ทางเลือกที่ 3 คือ การกู้เงินโดยตรง ขณะนี้ยังไม่ได้ดูช่องทางนี้ ซึ่งจริง ๆ สามารถกู้ได้ เพราะขณะนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% ของ GDP ขณะที่เพดานอยู่ที่ 70% โดยขนาดของ GDP อยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ามีช่องที่จะกู้เงินตรงนี้ได้ 1.7 ล้านล้านบาท และถ้า GDP โตก็ยิ่งมีพื้นที่หายใจมากขึ้นอีก

“หากดูจากขนาดของงบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าสามารถบริหารและใช้คืนเงินกู้ในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว” นพ.พรหมินทร์กล่าว