ดอลลาร์แข็งค่า ท่ามกลางความยืดเยื้อของสงครามตะวันออกกลาง

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ท่ามกลางความยืดเยื้อของสงครามตะวันออกกลาง ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และยังคงจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ 

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/10) ที่ระดับ 36.40/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/10) ที่ระดับ 36.28/29บาท/ดอลลาร์สหัฐ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะ 10 ปี ปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี ทะลุระดับ 4.9%

เนื่องด้วยนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์กได้ให้ความเห็นว่าถึงแม้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะชะลอลงมาบ้างแล้ว แต่หากเงินเฟ้อยังไม่กลับสู่เป้าหมายที่ 2% เฟดยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่เข้มงวดต่อไปผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงให้นานขึ้น

รวมทั้งนักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มบานปลาย หลังจากเกิดเหตุระเบิดโรงพยาบาลอัล-ลาห์ลี อัล-อาราบีในฉนวนกาซา

ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งอยู่ในระหว่างการเยือนอิสราเอลได้แสดงความเห็นว่าเหตุระเบิดดังกล่าวน่าจะเกิดจากการที่กลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ยิงจรวดพลาดเป้า

ทั้งนี้ แม้ว่า ปธน.ไบเดนให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลืออิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการเจรจาเพื่อป้องกันการลุกลามของสงคราม โดยทำให้รัฐบาลจอร์แดนตัดสินใจยกเลิกการประชุมสุดยอด 4 ฝ่ายระหว่าง ปธน.ไบเดน, กษัตริย์อับดุลลาห์แห่งจอร์แดน, ประธานาธิบดีอียิปต์ และประธานาธิบดีปาเลสไตน์

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ก (Economic Club of New York) ในคืนวันนี้ (19/10) ซึ่งเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มอยู่ในทิศทางที่ชะลอลง แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐกลับพุ่งขึ้นอย่างมาก

ดังนั้นนักลงทุนต่างจับตาว่านายพาวเวลล์จะส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างไร การกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวถือเป็นการแสดงความเห็นของนายพาวเวลล์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเจ้าหน้าที่เฟดจะเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2566 ลงเหลือ 2.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.4% และได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปี 2567 ลงสู่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.6% จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

ทั้งนี้ IMF คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.5% ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน จากผลพวงของราคาอาหารในภูมิภาคอาเซียนที่ปรับตัวลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.38-36.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.49/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/10) ที่ระดับ 1.0537/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/10) ที่ระดับ 1.0567/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนายยานนิส สตูร์นาราส สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซ กล่าวว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสอาจจะสร้างความท้าทายใหม่ให้แก่เศรษฐกิจยุโรป นับตั้งแต่ปัญหาปั่นป่วนในตลาดพลังงานไปจนถึงการทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัย อาจสร้างผลกระทบให้เศรษฐกิจชะงักงัน แต่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นอาจมีการปรับเปลี่ยนการให้น้ำหนักกับการคุมเข้มนโยบายการเงินอีกครั้ง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0526-1.0548 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0539/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/10) ที่ระดับ 149.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/10) ที่ 149.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบรายปี เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 0.8% และนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.1%

ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์และเหล็ก ส่วนการนำเข้าลดลง 16.3% ในเดือน ก.ย. ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ 12.9% โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลวที่ลดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.70-149.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (19/10), ดัชนีการผลิตเดือน ต.ค.ของสหรัฐ (19/10), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ย.จาก Conference Board (19/10), อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.ของญี่ปุ่น (20/10) และธนาคารกลางจีนประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) (20/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.40/9.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.00/-3.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ