ฉัตรชัย ศิริไล “ภารกิจ ธ.ก.ส.” ไม่ใช่แค่พักหนี้

ฉัตรชัย ศิริไล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“การทำให้เกษตรกรก้าวพ้นจากความยากจนหรือแก้หนี้ได้ต้องใช้เวลา ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เพียงชั่วข้ามวัน หรือแก้ได้ภายในระยะสั้น 1-2 ปีได้ เพราะภาคการเกษตรมีรอบการผลิตทั้งการเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืช ต้องทำให้เกษตรกรพัฒนาไปทีละสเต็ป”

“การพักหนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะฟื้นฟูศักยภาพด้านรายได้ของลูกค้า ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้น่าจะมีเกษตรกรที่เข้ามาพักหนี้ถึง 1 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่เข้าข่ายได้รับสิทธิการพักชำระหนี้ มาตรการนี้จะเดินหน้าควบคู่กันไปกับการปล่อยสินเชื่อปกติ”

สองประโยคข้างต้น “ฉัตรชัย ศิริไล” ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างกิจกรรมศึกษาดูงานการยกระดับมาตรฐานและมูลค่าสินค้าเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20-24 ต.ค.ที่ผ่านมา

ปรับวิธีคิด-การผลิตเกษตรไทย

โดย “ฉัตรชัย” กล่าวว่า การพัฒนาและยกระดับเกษตรกร สิ่งสำคัญคือ จะต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง โดย ธ.ก.ส. อาจเข้าไปช่วยในบางส่วน เพื่อเป็นแกนหลักให้องค์ความรู้กับเกษตรกร ซึ่งการนำเกษตรกรหัวขบวนไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ก็เพื่อให้เกษตรกรได้ไปเห็นการพัฒนาและยกระดับสินค้าคุณภาพของจริงอย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องตัดราคาสินค้าแข่งกันเอง

อย่างไรก็ดี การทำให้เกษตรกรก้าวพ้นจากความยากจนหรือแก้หนี้ได้ต้องใช้เวลา ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เพียงชั่วข้ามวัน หรือแก้ได้ภายในระยะสั้น 1-2 ปีได้ เพราะภาคการเกษตรมีรอบการผลิตทั้งการเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืช ต้องทำให้เกษตรกรพัฒนาไปทีละสเต็ป เช่น ตัวเบาขึ้นในมิติของมูลหนี้ หรือสามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้นในมิติของสินค้าการเกษตร ขณะที่ภาวะปัจจุบันสินค้าทางการเกษตรมีราคาขึ้นลงไม่แน่นอน

ยกตัวอย่างข้าวที่มีหลายปัจจัย ทำให้ปีนี้ราคาสูง ลูกค้าเกษตรกรกลุ่มผลิตข้าวก็จะมีรายได้มากขึ้น แต่พืชการเกษตรอีกหลายอย่างกลับขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปัจจัยแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ฉะนั้น สิ่งที่ ธ.ก.ส. ทำคือพยายามยกระดับกระจายรายได้ของเกษตรกรให้มากขึ้น ทั้งในมิติของการทำน้อยได้มาก เน้นเกษตรคุณภาพสูง รวมถึงหาแหล่งรายได้อื่น ๆ เข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรท่องเที่ยว การแปรรูปสินค้าไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น หรือแม้กระทั่งการดีไซน์สินค้า

“นโยบายของ ธ.ก.ส ตอนนี้ เราทำสองอย่าง คือ 1.เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ จะต้องวางแผนก่อน จะขายใคร ขายที่ไหน ผลิตอะไร ผลิตเท่าไหร่ จุดส่งมอบอยู่ไหน เพราะหากไม่วางแผนแล้วยังผลิตไปเรื่อย สุดท้ายผลผลิตนั้นก็จะราคาตกต่ำ 2. วิธีการผลิต อาทิ การใช้ปุ๋ย การใช้เทคโนโลยี รวมถึงความสนใจในเรื่อง BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม”

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. ก็ต้องปรับตัว ไม่เพียงช่วยเกษตรกรในด้านการผลิต แต่ต้องเข้าไปวางแผนด้านการขายด้วย โดยผนึกกำลังกับหน่วยงานในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์สินค้า การสร้างมูลค่าสินค้าให้มีราคาสูงมากขึ้น

มั่นใจพักหนี้หนุน NPL ลด

สำหรับการพักหนี้ “ฉัตรชัย” กล่าวว่า ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะฟื้นฟูศักยภาพด้านรายได้ของลูกค้า โดยภายในสิ้นเดือน ต.ค. นี้ น่าจะมีเกษตรกรแจ้งความประสงค์เข้าโครงการถึง 1 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่เข้าข่ายได้รับสิทธิพักชำระหนี้ ซึ่งมาตรการนี้จะเดินหน้าควบคู่กันไปกับการปล่อยสินเชื่อปกติ ทั้งนี้ ลูกค้าที่มีสิทธิพักหนี้จะมีประมาณ 60% ของพอร์ต โดยในแง่เม็ดเงินจะอยู่ที่ประมาณ 20% ส่วนอีก 80% จะต้องเดินตามแผนการเงินปกติของ ธ.ก.ส.

“ในแง่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เราสามารถบริหารจัดการได้ เพราะเรียกได้ว่า มีทั้งไหลเข้าและไหลออก อย่างในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา NPL อยู่ที่ 7% กว่า เข้าประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ไหลออกกว่า 5,000 ล้านบาท ปลายปี NPL น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะไม่เกิน 5.5% ที่สำคัญ 
ลูกค้าที่เป็น NPL

ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 6 แสนราย เป็นเงินประมาณ 36,000 ล้านบาท สามารถที่จะเข้าถึงมาตรการพักชำระหนี้ได้ด้วย และสามารถปรับโครงสร้างหนี้กับ ธ.ก.ส. ก่อนที่จะเข้าสู่
มาตรการดังกล่าว เมื่อพ้นระยะเวลาการพักชำระหนี้เฟสหนึ่งในปีแรกแล้ว ก็จะสามารถฟื้นการชำระหนี้แบบปกติได้เร็วขึ้น”

โดยการบริหารจัดการ NPL ในภาคการเกษตรจะต้องเข้าใจรอบการผลิตที่แตกต่างกันในแต่ละเดือน ตามรอบที่ลูกค้าขายผลผลิตทางการเกษตรได้ โดยทาง ธ.ก.ส.มีหลายโปรแกรม สำหรับการปรับงวดการชำระหนี้และทำให้ลูกค้ามีกระแสเงินสดสามารถชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยทั้งฝั่งเกษตรกรและฝั่งของธนาคาร วางแผนประมาณการ NPL ได้

“ในบางจังหวัด ก็มีกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาในมาตรการการพักหนี้มากถึง 81% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่ง รมช.คลัง ในฐานะประธาน ธ.ก.ส. ก็ได้ให้นโยบายมาว่าต้องรอดูทิศทางในเฟสแรก จะปรับเพิ่มหรือขยายระยะเวลาได้อีกหรือไม่อย่างไร”

ตั้งสำนักใหม่ดันส่งออก

“ผู้จัดการ ธ.ก.ส.” กล่าวด้วยว่า ล่าสุด ธนาคารได้จัดตั้งสำนักกิจการการต่างประเทศขึ้นมา เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นให้เกษตรกรของ ธ.ก.ส. ส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศได้ โดยสาระสำคัญจะทำอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.นำสินค้าทางการเกษตรของลูกค้า ธ.ก.ส.ไปขายยังต่างประเทศ

2.การขอความร่วมมือ
ทางด้านวิชาการ และ 3.ดูในเรื่องแบงก์เกษตรทั่วโลกว่า มีแหล่งเงินต้นทุนต่ำเข้ามาให้ ธ.ก.ส.สามารถปล่อยต่อให้เกษตรกรบางส่วนได้หรือไม่

“การทำเกษตรมูลค่าสูง นอกจากจะขายในต่างประเทศแล้ว ธ.ก.ส.จะต้องดำเนินการได้เอง โดยไม่ผ่านหน่วยงานอื่น สามารถส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคที่ต่างประเทศได้เลย ตอนนี้ที่ดูไว้ ก็มีกล้วยและข้าว ส่วนสินค้าอื่น ๆ ก็พยายามส่งเสริมและรวบรวมเพื่อส่งออกต่อไป” ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว