ดอลลาร์อ่อนค่า รับคาดการณ์เฟดยุติขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/11) ที่ระดับ 35.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/11) ที่ระดับ 36.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อคืนนี้ (1/11)

ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้ง นับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%

อีกทั้ง แถลงการณ์ของคณะกรรมการเฟดมีการส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคตเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3

อย่างไรก็ดี เฟดยอมรับว่าภาวะการเงินที่มีความตึงตัวมากขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กรรมการเฟดจะใช้ความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน แม้ว่าจะยังคงไม่มั่นใจในภาวะการเงินในขณะนี้

ว่ามีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับต่ำตามที่เฟดต้องการหรือไม่ ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผย ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผย การจ้างงานของภาคเอกชสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 113,000 ตำแหน่ง ในเดือนตุลาคม แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 130,000 ตำแหน่ง หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 89,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน

Advertisment

ทั้งนี้ ภาคบริการมีการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 107,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 6,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ADP เปิดเผยว่า ตัวเลขค่าจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.7% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 อีกทั้ง สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า

ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.7 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 49.0 ในเดือนกันยายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.2 ทั้งนี้ ดัชนีได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน โดยดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 สวนทางกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ออกมาทรงตัวที่ระดับ 50.0 ในเดือนตุลาคม

ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน จากระดับ 48.8 ในเดือนกันยายน และสอดคล้องกับตัวเลขเบื้องต้น ดัชนีอยู่ที่ระดับ 50 ซึ่งแสดงถึงการมีเสถียรภาพของภาคการผลิตสหรัฐ หลังจากปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 ก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิต ดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ แม้ว่าการจ้างงานลดลง

ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำ และสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 56,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.553 ล้านตำแหน่งในเดือนกันยายน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 9.250 ล้านตำแหน่ง

Advertisment

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนสิงหาคม สู่ระดับ 9,497 ล้านตำแหน่ง จากเดิมรายงานที่ระดับ 9.610 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.93-36.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.98/36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค ไฉซินและเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยผลสำรวจ โดยระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนหดตัวลงต่ำกว่าคาดในเดือนตุลาคม ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจจีนในช่วงเริ่มต้นไตรมาส 4

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนตุลาคมของจีนปรับตัวลงสู่ระดับ 49.5 จากระดับ 50.6 ในเดือนกันยายน โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหดตัวและเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2566

นอกจากนี้ ดัชนี PMI เดือนตุลาคมยังออกมาสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวสู่ระดับ 50.8 การหดตัวของดัชนี PMI สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของจีนยังไม่แข็งแกร่งมากเพียงพอ แม้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 ของจีนขยายตัว 4.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจขยายตัว 4.6%

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/11) ที่ระดับ 1.0596/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/11) ที่ระดับ 1.0545/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0564-1.0609 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0603/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/11) ที่ระดับ 150.16/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/11) ที่ 151.23/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เข้าแทรกแซงตลาดพันธัตรรัฐบาลในเมื่อวานนี้ (1/11) เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 110 ปี

อีกทั้ง นายมาซาโตะ คันเตะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ส่งสัญญาณว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อสกัดการอ่อนค่าของเยน หลังจากอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์ อยู่ที่ระดับ 151.74 เยน/ดอลลาร์เมื่อวานนี้ (1/11) โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.13-150.96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.41/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ได้แก่ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (EIA) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนกันยายนของสหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9/-8.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10/-9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ