ดอลลาร์แข็งค่า ตามตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จับตาผลประชุมเฟดคืนนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าตามตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ด้านนักลงทุนจับตาดูผลประชุมเฟดคืนนี้ คาดเฟดคงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม แม้เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดจะส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวลาดปริวรรตเงินราประจำวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566  ว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 36.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดลาดเมื่อวันอังคารที่ 31/10 ที่ระดับ 35.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด

โดยเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคน ชิลเลอร์ ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาบ้านในสหรัฐ ซึ่งปรับตัวขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยราคาดัชนีบ้านทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือน

ทางด้านธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนต้า เปิดเผยแบบจำลอง GDPNow ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.3%  ในไตรมาที่ 4/2566 หลังจากมีการขยายตัว 4.9% ในไตรมาสที่ 3/2566

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐในเดือนตุลาคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน จากระดับเดิมที่ 104.3 ในเดือนกันยายน โดยสาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

Advertisment

นักลงทุนจับตาดูผลประชุมเฟดในคืนนี้ โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคืนนี้ แม้ว่านายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดจะส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ล่าสุด Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.7% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1พ.ย. นอกจากนี้  นักลงทุนให้น้ำหนัก 69.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค.เช่นกัน

ทางด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราผลตอบแทนได้พุ่งขึ้นสู่ระดับ 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ทางรัฐบาลสหรัฐเตรียมออกพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่ในรอบ 2 ปี เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งอาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนยังคงจับตามองการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเลตที่ยังคงมีความไม่แน่นอน อีกทั้งการดำเนินนโยบายนี้ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินมาเพื่อดำเนินนโบาย ซึ่งในปัจจุบันนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยอายุ 10 ปี แตะระดับ 3.4% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้ต้นทุนที่ใช้ในการกู้ยืมของรัฐบาลสูงขึ้น

Advertisment

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.11-36.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 1.0569/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (31/10) ที่ระดับ 1.0668/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้ (31/10) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม โดยเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 4.2% เมื่อเทียบรายปี ขยายตัวลดลงจากในเดือนกันยายนที่อยู่ที่ 4.5% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.9% ลดลงจากเดือนกันยายนที่อยู่ที่ 4.3%

ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ทางธนาคารกลางยุโรปอาจหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0557-1.0578 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0558/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 151.35/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (31/10) ที่ 150.69/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ -0.1%

โดยทาง BOJ กล่าวว่า ถึงแม้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะสูงกว่า 2% แล้ว แต่อาจจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว ทำให้ทาง BOJ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง จากความผิดหวังของนักลงทุนที่คาดว่า BOJ อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่คาด นอกจากนี้ ทาง BOJ มีการขยาย YCC ให้เคลื่อนไหวได้ในกรอบ 1% จากเดิมที่ 0.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.14-151.39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (31/10-1/11) และธนาคารกลางอังกฤษ (2/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน (1/11), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจากสถาบัน ADP ของสหรัฐ (1/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐจากสถาบัน ISM (1/11),

ตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่ของสหรัฐ (1/11), จำนวนผู้ยื่นของสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (2/11), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ค่าจ้างรายชั่วโมง และอัตราการว่างงานของสหรัฐ (3/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.4/-9.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.0/-7.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ