สรรพากรชะลอ “รีดภาษี” เงินได้ต่างประเทศก่อนปี 2567 ยึดเกณฑ์เดิม

รีดภาษี

สรรพากรเรียกหน่วยงานด้านตลาดเงินตลาดทุนมาทำความเข้าใจถึงแนวทางจัดเก็บภาษีจากคนที่มีเงินได้ในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อนำเข้ามาแล้วต้องถูกตรวจสอบภาษี ไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีไหนก็ตาม จากเดิมที่หากนำเข้าข้ามปีจะไม่ถูกเก็บภาษี โดยหลังจากออกประกาศมาแล้ว หลายฝ่ายยังมีความกังวลถึงความไม่ชัดเจน

ปลัดคลังยันต้องปิดช่องโหว่

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยืนยันเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศแน่นอน โดยจะมีการแก้กฎหมายเพื่อให้เก็บทันทีที่มีเงินได้ เพียงแต่การแก้กฎหมายต้องผ่านรัฐสภา ดังนั้น ก็คงทำได้ไม่เร็ว แต่ยืนยันว่าต้องทำ เนื่องจากเป็นไปตามเกณฑ์สากล

“คนที่เสียภาษีจากต่างประเทศแล้วก็ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ต้องเสียซ้ำซ้อนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ที่ผ่านมาจะมีรายใหญ่ ๆ ที่ใช้ช่องนี้บริหารภาษี เราก็ต้องปิดช่องตรงนี้”

นักลงทุนโวยขี่ช้างจับตั๊กแตน

นายอนุรักษ์ บุญแสวง (โจ ลูกอีสาน) นักลงทุนรายใหญ่และอดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนรายใหญ่ น่าจะต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราสูงสุดที่ระดับ 35%

ดังนั้น เชื่อว่าไม่มีใครยอมโดนเก็บภาษีแน่นอน จึงทำให้อาจเห็นนักลงทุนรายใหญ่ 1.เลิกลงทุนต่างประเทศ 2.ไม่นำเงินกลับประเทศ และ 3.ใช้วิธีการเทา ๆ เพื่อหาช่องโหว่ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้โอกาสที่รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้จากภาษีนี้ได้มาก ๆ คงทำได้น้อย

Advertisment

“ที่แน่ ๆ กลับจะสร้างปัญหาที่มาก เพราะจะทำให้นักลงทุนมีความยุ่งยาก รวมไปถึงในทางปฏิบัติทางโบรกเกอร์ จะต้องรวบรวมเอกสารเงินเข้า-ออก เพื่อแยกส่วนกำไรมาพิสูจน์ประเมินการจ่ายภาษีในแต่ละปี ซึ่งสร้างความยุ่งยากมาก ๆ

ดังนั้น ก็เหมือนเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึงภาษีก็จัดเก็บไม่ได้ เพราะโอกาสที่จะมีคนยอมจ่ายน้อยมาก แต่สร้างผลเสียมากมาย ซึ่งไม่ใช่แค่นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยังรวมถึงกองทุนส่วนบุคคล หรือกลุ่มเจ้าสัวที่นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ”

นายอนุรักษ์กล่าวว่า อยากให้รัฐเปลี่ยนมุมมอง เพราะไม่ใช่ว่านักลงทุนไม่อยากจ่ายภาษี แต่ถ้าจัดเก็บภาษีในอัตราที่สมเหตุสมผล หรือที่ระดับ 10-15% ก็ยังยอมรับได้

“การเก็บภาษีควรจะต้องทำให้คนทำแบบสุจริต แต่ถ้าเก็บสูงแบบนั้น เชื่อว่าจะมีการทุจริตเยอะแน่ ๆ ตอนนี้ ผมส่วนใหญ่ก็ลงทุนในประเทศจีน เวียดนาม และสหรัฐ ก็เตรียมแผนตั้งรับไว้หลายวิธี”

Advertisment

เริ่มคิดเงินได้ตั้งแต่ปี 2567

อย่างไรก็ดี ล่าสุด มีรายงานจากกรมสรรพากรว่า ได้สรุปแล้วว่า ในระยะแรกจะผ่อนปรนให้กรณีเงินได้ที่เกิดในต่างประเทศก่อนปี 2567 ซึ่งหากไม่ได้นำเข้ามาภายในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้ ก็จะไม่ต้องถูกตรวจสอบ เนื่องจากการตามหาเอกสารหลักฐานจะทำได้ยาก ถือว่าเป็นการปล่อยผีไป

“เงินได้ที่เกิดก่อนปี 2567 ก็จะใช้กติกาเก่าไป คือถ้าไม่ได้นำเข้าในปีภาษีเดียวกัน กรมก็จะไม่ไปเก็บ ส่วนการนำเข้าข้ามปีก็ไม่เก็บอยู่แล้วตามเกณฑ์เดิม แต่ว่าเงินได้ที่เกิดในต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป นำเข้ามาตอนไหนก็ตามจะต้องถูกเก็บภาษี

ส่วนในอนาคตจะแก้ประมวลรัษฎากร มาตรา 41 จะคิดภาษีในปีที่เกิดเงินได้ในต่างประเทศทันที ไม่ว่าจะนำเงินเข้าประเทศหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี การแก้กฎหมายอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี”

ตั้ง “พิชัย” ดูข้อเสนอเอกชน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และอดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวกำลังมีการหารือกัน เพื่อให้รัฐบาลเลื่อนบังคับใช้ไปก่อน

เพราะเชื่อว่าได้ไม่คุ้มเสีย จะกระทบกับภาพรวมภาษีของประเทศไทยทั้งหมดได้ ซึ่งเข้าใจว่าตอนนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มอบหมายให้ นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้

“แล้วตามคําสั่งกรมสรรพากร ป.161/2566 ที่ออกมา ก็เป็นข้อปฏิบัติ จะตีความนอกเหนือกฎหมายไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจะจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องแก้กฎหมาย ยกเลิกมาตรา 41 วรรคสอง และออกกฎหมายใหม่มาแทน ซึ่งต่อไปจะจัดเก็บภาษีคล้าย ๆ กับประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือรายได้ในโลกนี้ต้องเสียภาษีทั้งหมด แต่โดยทั่วไปไม่ควรเก็บภาษีเกิน 15%”