กสิกรไทยชี้เทรนด์ส่งต่อทรัพย์สินทั่วโลกสูง 2 พันล้านล้าน แนะวางแผนบริหารความมั่งคั่ง

KBank Private Banking

KBank Private Banking ประเมินทั่วโลกส่งต่อทรัพย์สินทั่วโลก 59 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 2 พันล้านล้านบาท แนะมุมมองทายาทรุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจเพื่อเตรียมพร้อมการส่งต่อความมั่งคั่งให้ประสบความสำเร็จ

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การส่งต่อความมั่งคั่งครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นทั่วโลกและรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งการส่งต่อทรัพย์สินเฉพาะในสหรัฐจะมีมูลค่ากว่า 59 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 พันล้านล้านบาท

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายด้านภาษี การทำสาธารณกุศล และทำให้เกิดวิธีการในการส่งต่อทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจในสหรัฐต่างให้ความสำคัญในการศึกษาบทบาทของกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างรุ่น หรือที่เรียกว่า Sandwich Generation ในครอบครัวที่อาจจะประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป

ซึ่ง Sandwich Generation นี้ จะเป็นผู้รับบทบาทสำคัญในการปกป้องทรัพย์สินจากปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ให้มีมูลค่าลดลง ในขณะเดียวกันต้องวางแผนส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัวไปยังรุ่นต่อไป โดยที่ยังต้องรับความกดดันจากคนรุ่นพ่อแม่ที่มีทัศนคติต่างกัน

จากการศึกษาร่วมกันระหว่าง KBank Private Banking กับ Lombard Odier พบว่าหลังการระบาดของ COVID-19 ครอบครัวที่มีความมั่งคั่งสูงส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินและธุรกิจมากขึ้น เนื่องมาจากความท้าทายในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบให้มูลค่าทรัพย์สินของครอบครัวต้องมีความเสี่ยงที่จะมีมูลค่าลดลง

Advertisment

ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ถี่และรุนแรงขึ้น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาวะสงคราม อัตราเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ภาษี และข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ การวางแผนปกป้องทรัพย์สินครอบครัวจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ ในขณะเดียวกันการวางแผนส่งต่อทรัพย์สินก็เป็นเรื่องที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่าลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก 80-90% มองว่าการสื่อสารระหว่างรุ่นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งต่อความมั่งคั่ง แต่ 50% มองว่าการสื่อสารระหว่างรุ่นเป็นเรื่องที่ยากและไม่ได้มีการสื่อสารกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของคนที่เป็น Sandwich Generation ที่จะต้องเตรียมพร้อมและทำความเข้าใจความต้องการของทายาทที่จะต้องรับช่วงต่อ

KBank Private Banking ได้สรุป 3 มุมมองหลักที่แตกต่างของทายาทรุ่นใหม่ ดังนี้

1.มุมมองด้านการลงทุน เช่น ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการลงทุนของครอบครัว ที่ในรุ่นพ่อแม่สูงอายุที่มักจะออมเงินในรูปแบบของเงินฝาก และเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ที่คนรุ่นก่อนหน้ามักลงทุนในการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง

Advertisment

ในขณะเดียวกัน รุ่นทายาทกลับมองว่าการฝากเงินหรือการลงทุนดังกล่าวทำให้ได้ผลตอบแทนน้อย และทำให้ทรัพย์สินเติบโตไม่ทันสภาวะเงินเฟ้อ จนท้ายที่สุดทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าลดลง คนรุ่นนี้จึงสนใจที่จะลงทุนในการลงทุนอื่น ๆ ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก เช่น การลงทุนใน Sustainability Business

2.มุมมองต่อทรัพย์สินอย่างที่ดิน ที่คนรุ่นทายาทมองว่าเป็นทรัพย์สินที่จัดการยาก ต้องเฝ้าระวัง มีภาระค่าใช้จ่าย ขาดสภาพคล่อง ใช้ประโยชน์ได้ยาก และที่ดินบางผืนมีการปรับราคาขายไม่เท่าอัตราเงินเฟ้อ

3.มุมมองด้านการจัดการในครอบครัว เช่น ไม่อยากทำงานร่วมกับสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ต้องการเลือกอาชีพหรือลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ของตัวเอง เป็นต้น

ในฐานะผู้ให้บริการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว มองว่าทุกครอบครัวไม่ว่าจะมีทรัพย์สินมากหรือน้อย ก็จำเป็นจะต้องมีการบริหารสินทรัพย์ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในอนาคต และต้องไม่ลืมบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนมุมมองทรัพย์สินในครอบครัวให้เป็นองค์รวม ตั้งแต่ในระดับการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการ, การลงทุน, การจัดการความเสี่ยง, ระบบบริหารจัดการทรัพย์สิน, การจัดการภาษี, การส่งต่อทรัพย์สิน, การวางแผนผู้สืบทอด สิ่งต้องทำต่อไปก็คือ ต้องมีการสื่อสารภายในครอบครัว ที่โปร่งใส เปิดเผย และเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรุ่น

ที่สำคัญคือต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับความต้องการและช่วงเวลา เช่น ปัจจุบันแนวโน้มในการจัดตั้งทรัสต์ลดลง การจัดตั้งสำนักงานครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำในการจัดโครงสร้างธุรกิจให้ก้าวข้ามผ่านความเป็นธุรกิจครอบครัว รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เป็นเครื่องมือที่ถูกที่สุด และมีคุณสมบัติที่หลากหลายในการบริหารจัดการและส่งต่อทรัพย์ครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายพีระพัฒน์กล่าวสรุป