ดอลลาร์ถึงจุดกลับตัวแล้วหรือยัง ?

dollar
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : จงรัก ก้องกำชัย,กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐใน 1-2 เดือนที่ผ่านมาผันผวนรุนแรง โดยมีการเคลื่อนไหวภายในสัปดาห์ที่มีขนาดใหญ่มากสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ผลจากทั้งสงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงการสื่อสารของเฟดต่อทิศทางนโยบายการเงินที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงไป

โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของปีที่ 107.35 ในช่วงต้นเดือนตุลาคม และหลังจากนั้นเพียง 1 เดือนพลิกอ่อนค่าต่ำกว่า 105.0 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

ความผันผวนดังกล่าวเริ่มสร้างคำถามว่า ดอลลาร์สหรัฐถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง ? เข้าสู่ภาวะกลับตัวหรือไม่ ?

โดยห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า ดอลลาร์สหรัฐถึงจุดกลับตัวแล้ว และในระยะต่อไปมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า จากปัจจัยดังนี้

ประการแรก การสื่อสารของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากการประชุมครั้งล่าสุดเริ่มเห็นความเข้มงวดที่น้อยลง โดยประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ ได้ปรับการสื่อสารล่าสุดเป็นคำถามปลายเปิดว่า “เฟดยังมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่” จากเดิมที่สื่อสารเชิงชี้นำว่า “เฟดยังมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก หากจำเป็น” เราจึงปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะต่อไป

Advertisment

โดยประเมินว่าวงจรการขึ้นดอกเบี้ยสิ้นสุดแล้ว และแม้สมาชิกเฟดจะออกมาย้ำว่า ดอกเบี้ยจะอยู่สูงนาน แต่ด้วยความเสี่ยงภาวะถดถอยและการหยุดชะงักของรัฐบาลที่ยังมีอยู่ เราจึงคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงกลางปีหน้า ดังนั้น โอกาสที่บอนด์ยีลด์ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ (yield-driven factor) จะเร่งตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดใหม่นั้น จึงมีจำกัด

ประการที่สอง เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเห็นการชะลอลงชัดเจน โดยเฉพาะในตลาดแรงงานที่เป็นแรงกดดันสำคัญของเฟด นำโดยยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ปรับชะลอลงกว่าคาด ขณะที่ยอดการขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กิจกรรมภาคธุรกิจก็เห็นการชะลอลงเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมทั้ง ISM และ S&P Global ที่ออกมาต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 1.0% ชะลอลงมากจาก 2.3% ในปีนี้ ดังนั้นการแข็งค่าของดอลลาร์จากแรงหนุนด้านเศรษฐกิจในระยะต่อไปจึงมีจำกัด (growth-driven factor)

ประการสุดท้าย สงครามอิสราเอลที่กินวงจำกัด ลดโอกาสที่ดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าจากการวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุน โดยตลาดมีแนวโน้มเปิดรับความเสี่ยงและหันกลับไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น (risk-on mode) ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยจึงเริ่มเห็นการปรับลดลงแล้ว เช่น ราคาทองคำ

Advertisment

โดยสรุปแม้ดอลลาร์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในแดนอ่อนค่าลง แต่โดยรวมจะยังคงอยู่ในฝั่งแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งกว่า

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจยูโรโซนและค่าเงินยูโรที่มีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 60% ของการคำนวณดัชนีดอลลาร์ รวมถึงปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยที่แม้อาจปรับลดลงในปีหน้า แต่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตทางการเงินในปี 2008