แอกซ่า ปิดดีลรถอีวีฉางอาน เป้าเบี้ยประกันปีหน้าเกือบ 7 พันล้านโต 15%

EV รถอีวี รถยนต์
Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash

แอกซ่าประกันภัย ปิดดีลรับประกันรถอีวี “ฉางอาน” กุมพอร์ต 5 ค่ายรถยนต์ ครบแบรนด์ “ยุโรป-ญี่ปุ่น-จีน” ปีนี้พอร์ตรถ EV ในมือ 8,900 คัน สัดส่วน 5-6% ของเบี้ยรวม เคลมต่ำ 60% ยืนยันไม่แข่งราคา ชูจุดขายให้ฟรีความเสียหายสายชาร์จ-เครื่องชาร์จ มั่นใจเบี้ยสิ้นปีเข้าเป้า 6 พันล้านบาท ปีหน้าโต 12-15% เบี้ยเกือบ 7 พันล้านบาท

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายโคลด เซนย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ AXA เปิดเผยว่า การรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือเป็นแนวทางการทำธุรกิจของแอกซ่าอยู่แล้ว เพียงแต่จะไม่ใช่ผู้เล่นที่ลงไปเแข่งขันด้านราคา เพราะไม่มีความยั่งยืน แต่จะมุ่งเน้นส่งเสริมด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยความคุ้มครองเสริมเข้าไปให้กับลูกค้า

ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์อีวีและปลั๊กอินไฮบริด จะได้รับแถมความคุ้มครองเพิ่มเติม 3 ส่วนคือ 1.ความเสียหายหรือสูญหายต่อสายชาร์จรถอีวี สูงสุด 100,000 บาท/ปีกรมธรรม์ 2.ความเสียหายหรือสูญหายต่อเครื่องชาร์จรถอีวีที่บ้าน สูงสุด 50,000 บาท/ปีกรมธรรม์ และ 3.ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกจากอุบัติเหตุ เนื่องจากการใช้งานเครื่องชาร์จรถอีวีที่บ้านและสถานีชาร์จรถอีวีสาธารณะ สูงสุด 100,000 บาท/ครั้ง

โดยแอกซ่าเป็นผู้รับประกันรถอีวีให้กับ 5 พันธมิตรค่ายรถยนต์ ประกอบด้วย 1. BMW 2.Volvo 3.Mazda 4.Honda และล่าสุด 5.Changan โดยมีพอร์ตเบี้ยประกันรถอีวี คิดเป็นสัดส่วน 5-6% ของเบี้ยรับรวม หรือประมาณ 8,900 คัน โดยที่มีอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ในระดับ 60% ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ได้น่ากังวล มีค่าเบี้ยประกันรถอีวีต่อคันที่บริษัทรับงานไว้จะเฉลี่ยตั้งแต่ 20,000-50,000 บาท/คัน/ปีกรมธรรม์

“เราเรียนรู้จากสถิติการรับประกันรถอีวีจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องความถี่และความแรงในการชน อีกส่วนคือความคุ้มครองเสริมที่เราแถมให้มากกว่าผู้เล่นรายอื่น เพราะเป็นสิ่งที่เราสำรวจมาแล้วว่าลูกค้าต้องการ จึงนำมาปรับใช้เพื่อให้เป็นจุดขายของแอกซ่า” นายโคลด กล่าว

สำหรับภาพรวมเบี้ยของแอกซ่าสิ้นปี 2566 คาดว่าจะมีเบี้ยทั้งบริษัทแตะ 6,000 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจประกันรถยนต์ 60% และประกันภัยที่ไม่ใช่รถ (น็อนมอเตอร์) ที่สัดส่วน 40% และคาดว่าในปี 2567 เบี้ยจะเติบโตขึ้น 12-15% หรือเกือบ 7,000 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตของแอกซ่าจะเป็นลักษณะที่จะโตกว่าภาคอุตสาหกรรมประมาณ 3-4 เท่า ตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“เรามองภาพรวมในปีหน้า ธุรกิจประกันรถยนต์มีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงเพื่อแย่งฐานลูกค้า ทำให้บริษัทที่กล้าสู้จะต้องรับความเสี่ยงเคลมประกันที่สูง แต่สำหรับแอกซ่ามั่นใจว่าด้วยการมีทีมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่แข็งแกร่งและใหญ่สุดในอุตสาหกรรมฯ ซึ่งคำนวณสถิติได้อย่างรัดกุมว่าการรับประกันจะไม่ขาดทุนและไม่เอาเปรียบลูกค้า จะทำให้เรายังคงเติบโตได้ตามแผนที่วางไว้” ซีอีโอแอกซ่าประกันภัย กล่าว