ราคาทองปีมังกร อาจแตะจุดสูงสุดที่ 2,200 ดอลลาร์

ราคาทองคำ
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

แนวโน้มราคาทองคำตลาดโลกปี 2567 คาดยังเป็นขาขึ้นและยังเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากพอร์ตการลงทุน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากหลากหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งเศรษฐกิจโลกและการเมืองระหว่างประเทศ

หลังจากที่ในปี 2566 ทั้งราคาทองตลาดโลกและราคาทองในประเทศปรับขึ้นทำ All-time High ปี 2567 คาดว่าจะปรับขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 2,150 ดอลลาร์ และทะลุขึ้นไปได้ อาจจะแตะจุดสูงสุดที่ 2,200 ดอลลาร์ ส่วนจุดต่ำสุดของทองคำคาดว่า 1,900 ดอลลาร์

สำหรับปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำ ได้แก่ 1) แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยขาลง เนื่องจากแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อโลกที่มีแนวโน้มลดลงจากราคาพลังงานที่ลดลง ทำให้ธนาคารกลางชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในปีนี้ และในปี 2567 จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

ที่สำคัญน่าจะเป็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่เป็นขาลง ทำให้เงินดอลลาร์กลับทิศทางอ่อนค่าลงและเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำอย่างชัดเจน ซึ่งในปีหน้าเฟดคาดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% หรือ 3 ครั้ง ขณะที่มุมมองของตลาดกลับคาดเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุก โดยคาดเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 1.50% หรือ 6 ครั้ง และจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.

2) ปีหน้าเป็นปีแห่งการเลือกตั้งทั่วโลก ทั้งเอเชีย สหรัฐ และยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งของสหรัฐ อังกฤษ รัสเซีย อินเดีย ไต้หวัน ดังนั้นความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งของหลายประเทศ ขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ การค้าต่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ นอกจากจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจทำให้มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) โดยเฉพาะการเลือกตั้งสหรัฐและไต้หวัน

สำหรับเดือน ม.ค.จะมีการเลือกตั้งไต้หวัน ตัวแทนพรรคการเมือง 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก คือฝั่งของรัฐบาลเดิม ที่จะเสนอรองประธานาธิบดีไต้หวันท่านปัจจุบัน ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค DPP ลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

โดยนโยบายของพรรคนี้มุ่งสนับสนุนให้ไต้หวันพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตย หรือสรุปได้ง่าย ๆ ว่ามีนโยบายแยกประเทศออกจากจีนอย่างเด็ดขาด และจะมีความใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น

อีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งฝ่ายค้านในปัจจุบัน คือ พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) มีนโยบายที่จะคงสถานะไต้หวันที่เป็นอยู่และจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมากยิ่งขึ้น และพรรค TPP ที่มีจุดยืนต่ออนาคตของไต้หวันไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวันจะมากขึ้นหรือผ่อนคลายลง ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง

ส่วนในช่วงปลายปีจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และท่าทีต่อนโยบายการค้าและการเมืองต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีต่อจีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก

3) ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางที่คาดยังแข็งแกร่งในปีหน้า จากกระแส Dedollarization หรือการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์เพื่อกระจายความเสี่ยง และหันมาถือทองคำในเงินทุนสำรองมากขึ้น ทำให้ในปี 2565 ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2510

ซึ่งซื้อรวมกันมากถึง 1,136 ตัน และในปีนี้ธนาคารกลางยังคงเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ธนาคารกลางซื้อทองคำสุทธิ 842 ตัน ที่น่าจับตามองคือธนาคารกลางจีนซึ่งเข้าซื้อทองคำในเดือน พ.ย.ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13

ราคาทอง

ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอยหรือไม่ หลังจากที่หลายประเทศเผชิญกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูง ทำให้อาจจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ สำหรับปีหน้าโดยส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดภาวะ Soft Landing

เนื่องจากยังคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเพียงพอสำหรับธนาคารกลางที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย ในอดีตที่ผ่านมาถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะ Soft Landing จะไม่ได้ส่งผลบวกต่อราคาทองคำ แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดภาวะ Hard Landing จะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าทองคำและราคาทองจะขึ้นแรง

ปัจจัยลบ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจจีนที่คาดเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงในปีหน้า เนื่องจากจีนต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการส่งออกที่อ่อนแอลง ในฐานะจีนเป็นประเทศที่ใช้ทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้กระทบทางลบต่อความต้องการทองคำ

2) เงินทุนไหลออกจากกองทุนอีทีเอฟทองคำ ในปีนี้กองทุน SPDR ขายทองติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ถึงแม้ว่าเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาสก็ตาม

ดังนั้น เงินทุนที่ยังไหลออกจากกองทุนอีทีเอฟทองคำ เป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ แต่คาดว่าแรงเทขายในปีหน้าจะเริ่มเบาบางลง