จีน 4.0

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย พูนพิชญา ปัญฑิตานนท์

นักลงทุนหลายท่าน คงจะเคยได้ยินถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ในฐานะประเทศที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ไปจนถึงการสร้างและประยุกต์นวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งมีการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์อย่างเฟื่องฟู แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่มาพร้อมการเติบโตอย่างรวดเร็วเราก็อาจได้ยินถึงข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็นภาวะการเติบโตที่ชะลอตัวลง (Soft Landing) หรือปัญหาหนี้แฝง (Shadow Banking) ปัญหาฟองสบู่ รวมทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศที่เคยลดลงติดต่อกัน แต่เรื่องร้ายเหล่านี้กลับไม่ทำให้ความพยายามที่จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางของจีนหายไปเลย เห็นได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจภาคการบริการที่เติบโตรุดหน้ามาทดแทนภาคการผลิตและการส่งออก อีกทั้งรายได้เฉลี่ยต่อหัวคนจีนที่เคยต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทย กลับแซงหน้าไทยได้ในช่วงปี 2012 ที่ผ่านมา โดยบทความในวันนี้จะเล่าให้เห็นถึงความก้าวหน้าของภาคธุรกิจชั้นนำของจีนที่เป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี และออนไลน์

สำหรับจีนนั้น แม้เราจะได้ยินว่าเป็นประเทศที่มีการควบคุมข่าวสารอยู่บ้าง เช่น การที่ Facebook, Instagram, Google หรือ Application อื่น ๆ ไม่สามารถใช้งานได้ในเมืองจีน แต่ในมุมกลับกัน การกีดกันลักษณะนี้กลับกลายเป็นเกราะให้ธุรกิจผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตและบริษัทนวัตกรรมของจีนสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง หลายท่านอาจจะได้ยินชื่อบริษัทสัญชาติจีน อย่าง Baidu, Alibaba และ Tencent ที่นักลงทุนต่างชาติเรียกรวมกันว่า “BAT” ซึ่งมักถูกใช้เปรียบเทียบกับกลุ่ม “FANG” (Facebook, Amazon, Netflix และ Google) เนื่องจากลักษณะการดำเนินธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกัน โดยธุรกิจจีนกลุ่ม BAT นั้น ถือได้ว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน ซึ่งในฐานะคนไทย เราอาจจะเริ่มได้เห็นภาพดังกล่าวมาบ้าง เช่น เมื่อเราเข้าร้านเซเว่นฯบางสาขา เราอาจจะเห็นสัญลักษณ์การยอมรับการชำระเงินผ่านระบบ ALIPAY ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจการรับชำระเงินของ Alibaba ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานไม่ต้องพกเงินสดในการชำระสินค้าและบริการ ส่วนผู้ที่ชื่นชอบ Application Chat อาจจะพอรู้จัก Wechat ซึ่งมี Interface คล้ายคลึงกับ Line หรือคอดนตรีก็อาจจะพอรู้จัก JOOX Music ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจของ Tencent ที่ขาย Content เพลงผ่าน Application หรือ Web Browser ของเมืองจีนที่ชื่อ Baidu

โดยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างคร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพว่าบริษัทเทคโนโลยีออนไลน์ของจีนสามารถก้าวออกมาแข่งขันนอกบ้านตัวเองและได้รับการตอบรับจากทั่วโลกได้เป็นอย่างดี และจุดแข็งอีกสิ่งที่ผู้เขียนสนใจที่สุดคือประเด็นที่ผู้ให้บริการออนไลน์ของชาติตะวันตกแทบไม่สามารถแทรกซึมเข้ามาในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้เลย ถึงเราอาจจะได้เห็น Gadget ดัง ๆ เช่น Apple ที่อาจจะพอแทรกตัวในตลาดจีนได้บ้าง แต่ Software และบริการออนไลน์ที่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวนั้น รัฐบาลจีนค่อนข้างรัดกุมกับเรื่องนี้มาก ๆ ทำให้ Baidu และ WeChat ครองตลาดจีน แต่ในบางกรณีนั้นบริษัทสัญชาติจีน อาจจะเข้าใจตลาดของบ้านตัวเองมากกว่า จนเอาชนะคู่แข่งจากตะวันตกได้ เช่นกรณีที่ App เรียกรถของจีนที่ชื่อ DIDI เข้าซื้อกิจการคู่แข่งระดับโลกอย่าง UBER ที่ประสบปัญหาขาดทุนในจีนอย่างหนักในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมา

จากข่าวที่เราได้รับทราบกันมาทั้งหมด ทำให้เชื่อได้ว่าธุรกิจเทคโนโลยีออนไลน์ฝั่งจีนนั้น ไม่ได้ดีเพราะแค่มีรัฐช่วยอุ้ม แต่เพราะความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจประเภทนี้ของจีนมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จีน ซึ่งมีประชากรพันกว่าล้านคนและมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณ 50% (เทียบกับสหรัฐ 75% เกาหลีใต้ 90% ไทย 40%) ซึ่งถือว่าคนจีนเริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในวงกว้างพอควร แต่ก็ยังมีโอกาสให้เติบโตได้อีก

ส่วนด้านธุรกรรมที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดการจับจ่ายออนไลน์ในปี 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และแน่นอนการเติบโตของกำไรของบริษัทกลุ่ม BAT ก็เติบโตสอดคล้องกับตัวเลขดังกล่าว ที่ระดับ 20-30% ต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบางบริษัทเติบโตได้ดีกว่าอัตราการเติบโตของทางฝั่ง FANG เสียอีก ส่วนมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ของ BAT ปิดงบฯเดือน มี.ค. 2017 ส่วน FANG ปิดงบฯ ธ.ค. 2016 จะเห็นได้ว่ากลุ่ม BAT ยังมีมูลค่าตลาดเพียง 1 ใน 3 ของกลุ่ม FANG (BAT Market Capitalization รวมประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน FANG ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเมื่อพิจารณาการขยายตัวของกำไร และ Competitive Advantage ของกลุ่ม BAT ที่แกร่งด้วยศักยภาพของบริษัท และมีภูมิคุ้มกันจากคู่แข่งภายนอก

ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้นักลงทุนติดตามเพื่อหาจังหวะเข้าลงทุน โดยการลงทุนในจีนผ่านกองทุนรวมนั้น นอกจากกองทุนที่เน้นลงทุนใน A-Share, H-Share ที่นักลงทุนหลายท่านคุ้นเคย ซึ่งสองกลุ่มนี้จะเน้นภาคการเงินและอุตสาหกรรมดั้งเดิมเป็นหลัก แต่ในกลุ่ม MSCI All China และกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในกลุ่ม New Economy (เน้นเทคโนโลยีออนไลน์) นั้นจะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม BAT อยู่มากพอสมควร นักลงทุนอาจเปลี่ยนจากการลงทุนจากหุ้นจีนกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมเป็นกลุ่ม New Economy เพื่อเปิดโอกาสให้พอร์ตการลงทุนของท่านเติบโตสอดรับกับความก้าวหน้าของเศรษฐกิจจีนในยุค 4.0