คลังเล็งออกบอนด์กู้ต่างประเทศ 4 หมื่นล้าน ครั้งแรกรอบ 20 ปี

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

กระทรวงการคลังสั่ง สบน.เตรียมแผนออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศ ในรอบ 20 ปี หลังต่างชาติให้ความสนใจ เล็งช่วง มี.ค.เปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ 4 หมื่นล้านบาท

วันที่ 29 มกราคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการมอบหมายนโยบายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เกี่ยวกับแนวทางในการออกพันธบัตร (บอนด์) ในรูปเงินตราต่างประเทศ มองว่าเป็นโอกาสสำคัญในหลาย ๆ สกุลเงินตราต่างประเทศ และไทยเองไม่ได้มีการออกพันธบัตรในรูปเงินตราต่างประเทศมา 20 ปีแล้ว

โดยวัตถุประสงค์สำคัญไม่ใช่เพื่อการระดมทุน หรือการกระจายความเสี่ยง แต่เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานในการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยให้ภาคเอกชนเป็นหลัก โดยที่น่าสนใจมีทั้งสกุลเงินหยวน ซามูไรบอนด์ ดอลลาร์บอนด์ เป็นต้น

ซึ่งฮ่องกงได้แสดงความสนใจในเรื่องนี้ แต่รายละเอียดคงต้องมาพิจารณาความเหมาะสม ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างไร จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ และจะทำให้เกิดความง่ายกับกระบวนการมากน้อยเพียงใด คงต้องมาหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง

“ได้มีโอกาสไปประชุมที่ฮ่องกง และทางฮ่องกงได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับการออกบอนด์ในรูปเงินตราต่างประเทศของไทย เพราะฮ่องกงเองเป็นตลาดการเงินที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งเขายืนยันว่ามีความพร้อมและเสนอตัวในเรื่องนี้ แต่ในส่วนของไทยเองต้องกลับมาดูความเหมาะสมและประโยชน์ ความคุ้มค่ากับประเทศ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เราจะต้องมาพิจารณาก่อนกลับไปพูดคุยกันอีกครั้ง” นายจุลพันธ์กล่าว

โดยในเดือน มี.ค. 2567 กระทรวงการคลังมีแผนจะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการทดแทนของเดิม และเพื่อรองรับการบริหารการเงินการคลังของภาครัฐ สร้างการกระจายเครื่องมือระดมทุนของรัฐบาลให้หลากหลาย ครอบคลุมกับนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ และต้องการที่จะกระจายไปให้ถึงประชาชนเพื่อให้เกิดการออมในภาคประชาชน โดยในปีงบประมาณ 2567 นั้น กระทรวงการคลังมีแผนระดมทุนผ่านพันธบัตรออมทรัพย์ประมาณ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน เช่น การผลักดันให้ไทยเป็นฮับดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิดห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ก็ได้มีการหารือว่าจะเข้ามาจับมือกับไทยได้อย่างไร ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังได้ติดตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทยด้วย