ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ “รัฐบาลต้องกอบกู้สถานะประเทศ”

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาก ซึ่งน่าเป็นห่วง การเติบโตเฉลี่ย 2% ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ศักยภาพของประเทศไทยควรจะโตได้ระดับ 4-5% เป็นอย่างต่ำ นั่นคือภาระหนักของรัฐบาลชุดนี้ที่จะต้องกอบกู้สถานะของประเทศ” รุ่นใหญ่ในวงการตลาดทุน “ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวในงานแถลงแผนธุรกิจและกลยุทธ์ปี 2567 เมื่อเร็ว ๆ นี้

ไร้วี่แววต่างชาติกลับมาลงทุน

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ถือว่าเลือดไหลไม่หยุด เพราะไหลออกไปจากตลาดหุ้นไทยและตลาดตราสารหนี้ไทยถึง 1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการไหลออกจากตลาดหุ้น แม้ว่ากองทุนไทย หรือนักลงทุนไทยเข้ามาซื้อหุ้น หุ้นก็ขึ้นยาก เพราะเงินไหลออกมากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตัดขาดทุน (Cut Loss) เพื่อไปทำกำไรในประเทศอื่น

“ส่วนปีนี้ ก็เชื่อว่าน่าจะเห็นการไหลออกของฟันด์โฟลว์ไม่มากแล้ว เพราะออกไปมากแล้ว ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ จะเป็น Join Venture Partner มากกว่า คือขายไม่ได้ เพราะเป็นคู่ค้ากัน ตอนนี้อาจยังไม่เห็นวี่แววสัญญาณการกลับมาลงทุนของต่างชาติ เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำ และมีความกังวลเรื่องการเมืองเข้ามาอีก”

โจทย์ใหญ่รัฐบาลดึงดูดลงทุน

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ตอนนี้ไทยกำลัง “กินบุญเก่า” ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบางอย่างกำลังจะถูกประเทศเพื่อนบ้านแย่งไป ไม่ว่าจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม ที่มีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริม การลดภาษี

ขณะเดียวกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามาน้อย สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโตต่ำและความไม่มีเสน่ห์ของตลาดหุ้นไทย แต่กลับเห็นการกระจายไปลงทุนยังประเทศอื่น ซึ่งมีจุดน่าสนใจกว่า ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่ง สปป.ลาว ที่ตอนนี้เชื่อมต่อกับจีนอยู่ค่อนข้างมาก

แล้วถามว่าประเทศไทยจะปรับตัวอย่างไร ให้กลับมาน่าดึงดูดการลงทุนของ FDI ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้และในอนาคตต้องใส่ใจว่า “จุดเด่นของประเทศไทย” อยู่ตรงไหน ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ศูนย์กลางอาหารสำเร็จรูป

และศูนย์กลางท่องเที่ยวของโลกต่อไปได้ แต่จะรักษาไว้ได้ต้องลงทุนเพิ่มอีกมาก เช่น สร้างสนามบินใหม่ สร้างท่าเรือน้ำลึก หรือสร้างศูนย์จัดแสดงคอนเสิร์ตความจุที่นั่งประมาณ 80,000-100,000 คน

“สิ่งเหล่านี้ ในวงนักธุรกิจเริ่มพูดคุยกันอยู่บ้าง ในส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ก็จะช่วยตรงนี้ได้ เพราะเชื่อว่าจะมีโรงกลั่นมาตั้งทางฝั่งอันดามัน นำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและส่งผ่านท่อไปยังญี่ปุ่น, จีน ฯลฯ และหากตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางรถยนต์ EV ก็จะต้องวางแผนการปรับตัวเรื่องของซัพพลายเชนต่าง ๆ ในธุรกิจรถยนต์ดั้งเดิมด้วยว่าจะอยู่ได้อย่างไร”

ส่วนนโยบายเงินดิจิทัลวอลเลต “ดร.ก้องเกียรติ” กล่าวว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะการลงทุนต้องได้ผลตอบแทนระยะยาว ไม่ใช่เพื่อบริโภคระยะสั้น และกังวลเรื่องภาระหนี้ ซึ่งถ้าจะช่วยประชาชนช่วงระยะสั้น ๆ แนะนำให้ธนาคารลดดอกเบี้ยหรือพักหนี้ให้กับประชาชนบางกลุ่มที่เปราะบางเป็นการชั่วคราวจะเหมาะสมกว่า

คาด กนง.ลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง

“ดร.ก้องเกียรติ” กล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย วัฏจักรขาขึ้นถือว่าสิ้นสุดแล้ว ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ย 1% รวม 4 ครั้งในปีนี้ โดยเริ่มลดได้ในช่วงเดือน มิ.ย. 2567 ส่วนดอกเบี้ยนโยบายไทยคาดว่า คณะกรรมการโยบายการเงิน (กนง.) จะลดได้ 1-2 ครั้งในปีนี้ ครั้งละไม่เกิน 0.25%

“มีรูมที่ลดดอกเบี้ยได้ โดยมองผ่านอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้ +3.3% ถือว่ากระสุนมีพอ แต่ต้องบาลานซ์ไทมิ่งให้ดี โดยเวลาดอกเบี้ยลดลง จะหนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงและราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่รอบนี้จะเจอเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน นั่นคือ การลดดอกเบี้ย ไปพร้อม ๆ กับเฟดดึงเงินออกจากระบบ หรือทำ QT เพื่อลดผลบวกของดอกเบี้ยที่ปรับลง ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ไม่เต็มที่ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ๆ เพราะถูกลดทอนด้วยสภาพคล่องส่วนเกินในระบบที่หายไป”

เป้ารายได้ ASP โต 10-15%

สำหรับทิศทางของ ASP “ดร.ก้องเกียรติ” กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีจากนี้ (2567-2569) ตั้งเป้าจะมีรายได้รวมเติบโตปีละ 10-15% ขับเคลื่อนผ่าน 4 ธุรกิจหลักที่มีความสมดุลคือ

1.ธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.เอเซีย พลัส) 2.ธุรกิจด้านการลงทุน (บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์) 3.ธุรกิจด้านจัดการทรัพย์สิน (บลจ.แอสเซท พลัส) และ 4.ธุรกิจที่ปรึกษา (บจก.ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส)

สำหรับธุรกิจด้านการลงทุน ปีนี้จะลงทุนเพิ่มในธุรกิจเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินและไม่เกี่ยวธุรกิจการเงิน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างทำข้อตกลง (due diligence) มีเงินในมือเตรียมลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตการลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquid Assets) อยู่ในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งกระจายความเสี่ยงในหลายประเทศ

ถัดมาธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน ปีนี้ตั้งเป้าจะทำให้ บลจ.เติบโตขึ้น จากนโยบายกระทรวงคลังที่จัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่หันมาลงทุนในกองทุนภายในประเทศ แต่มี exposure ในต่างประเทศ ดังนั้นจะมีการออกกองทุนที่น่าสนใจ ในตลาด EM จำนวน 3-4 กองให้ลูกค้าเลือก โดยตั้งเป้าจะผลักดันสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) กลับไปแตะระดับ 70,000 ล้านบาท จากปีก่อนลดลงไปอยู่ที่ 65,000 ล้านบาท

ด้านธุรกิจที่ปรึกษา คงจะมีการเติบโตต่อเนื่องตามการระดมทุนรูปแบบ Private Placement การทำ M&A โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์การควบรวมกิจการข้ามประเทศทั้ง สปป.ลาว อินโดฯ และเวียดนาม รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้

และสุดท้ายธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งการแข่งขันสูง ค่าคอมมิชชั่นลดลงตลอดเวลา ลูกค้าน้อยลงจากสภาพตลาดหุ้นที่ซบเซา ดังนั้นธุรกิจนี้คล้าย ๆ Sunset โดยจะมีระบบออโตเมชั่นเทรดดิ้งเข้ามาแทนที่เซลล์และมาร์เก็ตติ้ง

“อย่างไรก็ตามธุรกิจ 4 ขาของเรา มีแม้บางธุรกิจมีความไม่แน่นอนอยู่สูง แต่สิ่งที่เราลดได้คือแรงเหวี่ยงในการเปลี่ยนแปลง จากที่มีสมดุลเรื่องการเติบโตระหว่างธุรกิจในเครือ“ ดร.ก้องเกียรติ กล่าว