HSBC มองจีดีพีไทยปี’67 โต 3.1% ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุน ชี้ รัฐลงทุนช้าฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ

เศรษฐกิจ

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเมินจีดีพีไทยปี’67 ขยายตัว 3.1% อานิสงส์ภาคการส่งออก-ท่องเที่ยว-การบริโภคยังโตต่อเนื่อง แนะภาครัฐเร่งลงทุน-ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากล่าช้าฉุดรั้งจีดีพีโตต่ำ 2.5-3% พร้อมมองท่าที ธปท.ยังไม่รีบร้อนเร่งปรับลดดอกเบี้ย เหตุการบริโภคยังขยายตัว อาจกระทบหนี้-การเติบโตเศรษฐกิจระยะยาว

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายเฟรเดอริก นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ถือเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเข้าสู่ระดับปกติ แม้ว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในไตรมาสที่ 4/2566 ออกมา 1.7% และทั้งปี 2566 อยู่ที่ 1.9% และปี 2567 อยู่ที่ 2.2-3.2% แต่จะเห็นว่าไส้ในกลับมาเป็นบวกค่อนข้างดี

ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าว ธนาคารคาดการณ์อัตราการเติบโตจีดีพีปี 2567 ขยายตัวได้ 3.1% จากปัจจัยภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ในระดับ 4-6% ถือว่าขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะมีแรงต้านจากการค้าโลกอยู่ก็ตาม โดยคาดว่าการค้าโลกจะขยายตัวเพียง 2-3%

โดยการบริโภคภาคเอกชนน่าจะขยายตัวได้ดีเช่นกันอยู่ที่ 4.8% และการลงทุนภาคเอกชน 3.5% แม้ว่าตัวเลขจะออกมาค่อนข้างดี แต่จะเห็นว่าความรู้สึกของคนยังไม่ดี ส่วนหนึ่งมาจากไทยเพิ่งออกจากภาวะช็อกของโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน จึงเป็นเหตุผลว่าคนยังไม่ได้รู้สึกดีขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ 32-35 ล้านคน จากปี 2566 อยู่ที่ 28.2 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มกลับมามากขึ้น และอานิสงส์จากโครงการฟรีวีซ่าของภาครัฐ ทำให้เป็นผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย

Advertisment

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ยังเป็นแรงกดดันอัตราการเติบโตของจีดีพีให้อยู่ในระดับต่ำ จะเห็นว่า มาจากงบประมาณและการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้าออกไป โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐในปี 2567 จะหดตัว – 0.3% และการลงทุนภาครัฐหดตัว -5.2%

สำหรับปัจจัยลบที่ยังต้องติดตาม จะเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอยู่ และจีนที่ยังเร่งเครื่องไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าแม้ภาวะในต่างประเทศจะยังไม่เอื้อนัก แต่ไทยยังมีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) และการเติบโตระยะยาว แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทย อาทิ หากไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านต่าง ๆ ของรถอีวีไว้รองรับการลงทุน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ซึ่งเป็นโอกาสในการเติบโต

“ตัวเลขประมาณการจีดีพี 3.1% เป็นกรณีพื้นฐาน (Based Case) ซึ่งไม่รวมดิจิทัลวอลเลต เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง ไม่รู้ว่าจะสามารถออกได้เมื่อไร ครอบคลุมขนาดไหน และจังหวะในการออก ดังนั้น มองว่าระดับ 3.1% ไม่ได้แย่ ส่วนกรณีรวมดิจิทัลวอลเลต และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ หรือโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐออกมาได้ มองว่าจีดีพีอาจจะวิ่งขึ้นไปได้ถึง 3.5-4% ได้ แต่หากกรณีเลวร้าย (Worst Case) ภาครัฐยังมีการตัดสินที่ช้า งบประมาณการลงทุน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มา ตัวเลขจีดีพีอาจจะลงมาที่ 2.5-3%”

นายเฟรเดอริกกล่าวว่า สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น มองว่า ธปท.ยังไม่รีบร้อนที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากหากดูตัวเลขภาคการบริโภค และการลงทุนเอกชนถือว่าค่อนข้างดี ส่งผลให้การลดดอกเบี้ยเป็นการกระตุ้นในภาคเอกชนที่มีการใช้จ่ายอยู่แล้ว จึงไม่ได้จำเป็น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่ ธปท.มีความกังวลอยู่

Advertisment

เนื่องจากยังมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้น มองว่าการตัดสินใจของภาครัฐในการลงทุนโครงการต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการปรับอัตราดอกเบี้ย

“หากดูการบริโภคและการลงทุนเอกชนตอนนี้ไม่ได้แย่ หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะกระทบต่อการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ ธปท.มีความกังวลอยู่ เพราะจะไปดึงการบริโภคไว้ ซึ่งมองว่านี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ธปท.ยังทรง ๆ ดอกเบี้ยไว้อยู่ ขณะเดียวกัน หากดูธนาคารกลางประเทศหลัก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และออสเตรเลีย รวมถึงเกาหลี จะเห็นว่ายังไม่มีท่าทีปรับลดดอกเบี้ย”