เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ

เงินบาท

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ หลังยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 661,000 ยูนิตในเดือนมกราคม ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ที่ระดับ 35.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 36.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยเทียบเงินสกุลหลัก หลังดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงมาอยู่ที่ 103.78 สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีการเปิดเผยช่วงเมื่อคืน (26/2) นั้น กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 661,000 ยูนิตในเดือนมกราคม ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 680,000 ยูนิต

ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนมกราคม ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่เดือนธันวาคม ถูกปรับลดลงสู่ระดับ 651,000 ยูนิต จากในเบื้องต้นที่รายงานไว้ที่ 664,000 ยูนิต ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.78-35.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ที่ระดับ 1.0846/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 1.0817/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ (23/2) สำนักงานสถิติของเยอรมนีรายงานว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทส (GDP) ประจำไตรมาส 4/2566 หดตัว 0.3%

ขณะเดียวกันค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังจากการแข็งค่าของค่าเงิสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงวันจันทร์โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0844-1.0865 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.856/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ที่ระดับ 150.57/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 150.72/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (27/2)

กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น (MIC) เปิดเผยข้อมูลว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ไม่รวมราคาอาหารสด ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือนมกราคม โดยชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

แต่ยังสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8% และยังเป็นไปตามเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งผลให้ตลาดคาดหวังว่า BOJ จะตัดสินใจยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบได้ในเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวเช่นนี้ก็ตอกย้ำความคาดหวังที่ว่า บริษัทขนาดใหญ่จะเสนอปรับขึ้นค่าแรงเป็นจำนวนมากในการเจรจาค่าแรงระหว่างฝ่ายพนักงานและฝ่ายบริหารในวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งจะปูทางไปสู่การยกเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมนโยบายการเงินประจำวาระถัดไป

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.10-150.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.16/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมกราคมของสหรัฐ (27/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์จาก Conference Board ดอลลาร์สหรัฐ (27/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ของสหภาพยุโรป (28/2), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหรัฐ (28/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (29/2),

ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนมกราคมของสหรัฐ (29/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์ Jiboun Bank ญี่ปุ่น (1/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของจีน ยูโรโซน อังกฤษและสหรัฐ (1/3), และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (1/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.40/-8.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.15/-3.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ