ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล

ดอลลาร์

ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/2) ที่ระดับ 35.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/2) ที่ระดับ 35.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากสต๊อกบ้านที่อยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐดีดตัวขึ้น 5.5% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาบ้านปรับตัวลง 0.4% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.1% ในเดือนธันวาคม จากระดับ 5.4% ในเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนั้นยังมีการเปิดเผยผลสำรวจของ Confierence Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน ท่ามกลางความกังวลเก่ยวกับตลาดแรงงาน และปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 106.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 110.9 ในเดือนมกราคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 115.0 นอกจากนี้ ดัชนีคาดการณ์เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 5.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จากระดับ 5.3% ในเดือนมกราคม

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน และทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ ดิ่งลง 6.1% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 4.5% หลังจากปรับตัวลง 0.3% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนลดลง 0.8% ในเดือนมกราคม โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อเครื่องบิน ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ดิ่งลง 19.4% ในเดือนมกราคม หลังจากร่วงลง 1.0% ในเดือนธันวาคม และปัจจัยสำคัญในสัปดาห์นี้ที่นักลงทุนจับตา ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) จะมีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (29/2)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ช่วงสายของวันนี้ (28/2) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ทำการเปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนมกราคม ปี 2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงต้อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.82-36.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/2) ที่ระดับ 1.0842/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/2) ที่ระดับ 1.0847/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยช่วงบ่ายวานนี้ (27/2) สถาบัน Gf K สและสถาบันนูเรมเบิร์กเพื่อการตัดสินใจด้านตลาด (NIM) ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับต่ำในเดือนมีนาคม เนื่องจากภาคครัวเรือนเผชิญกับความไม่แน่นอน ด้วยราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและเศรษฐกิจเยอรมนีที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีอยู่ที่ -29.0 ในเดือนมีนาคม ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก -29.6 ซึ่งเป็นระดับที่ปรับค่าแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0805-1.0846 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0804/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/2) ที่ระดับ 105.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/2) ที่ระดับ 150.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตลาดจับตารอตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOI) จะทำการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ (29/2) โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.35-150.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.75/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ของสหภาพยุโรป (28/2), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหรัฐ (28/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (29/2), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนมกราคมของสหรัฐ (29/2),

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์จาก Jibun Bank ญี่ปุ่น (1/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของจีน ยูโรโซน อังกฤษและสหรัฐ (1/3), และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (1/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.0/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.15/-2.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ