บสย.เคลมหนี้เสีย 9 พันล้าน ชงคลังหนุน 2 โปรดักต์ใหม่

บสย.เผยแนวโน้มแบงก์เคลมค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีลดลงต่อเนื่อง แจงไตรมาสแรกปีนี้เคลมต่ำกว่าประมาณการ คาดทั้งปีเคลม 9 พันล้านบาท ชี้สัญญาณหนี้เสียเอสเอ็มอีทั่วไปลดลง พร้อมโชว์ผลงานไตรมาสแรกค้ำสินเชื่อแล้ว 2.3 หมื่นล้านบาท เตรียมชง ครม. 2 โปรดักต์ใหม่วงเงิน 1.65 แสนล้านบาท

นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสนับสนุน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงไตรมาสแรกปี 2561 นี้ ยอดเคลมประกันสินเชื่อของ บสย.ที่สถาบันการเงินขอเคลมเข้ามา มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ๆ โดยในปี 2560 เดิมคาดว่าจะเคลมทั้งหมด 9,000 ล้านบาท แต่ถึงสิ้นปีมียอดเคลมจริงเพียงกว่า 7,000 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกปีนี้ยอดเคลมก็ออกมาที่กว่า 1,000 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งปีนี้ทั้งปี บสย.คาดว่าจะมียอดเคลมทั้งหมดที่ 9,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่เคยคาดว่าจะถึง 10,000 ล้านบาท

“ยอดเคลมมีแนวโน้มลดลงในภาพรวม แต่มีบางเซ็กเตอร์ที่ยังเคลมเยอะอยู่ คือ ก่อสร้าง กับค้าของเก่า (รีไซเคิล) โดยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยอดเคลมภาพรวมต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย แต่จำนวนรายสูงขึ้น เนื่องจากลูกค้ารายย่อยมีการเคลมเร็วขึ้น ส่วนเอสเอ็มอีรายใหญ่ขึ้นมาจะเคลมค่อนข้างน้อยลง ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้า บสย.จะมี 2 เซ็กเมนต์หลัก คือ ลูกค้าที่ใช้โครงการค้ำประกัน PGS (portfolio guarantee scheme) ที่เฉลี่ยจะมีขนาดค้ำประกันประมาณ 3 ล้านบาท กับกลุ่ม micro entrepreneur ที่จะมีขนาดประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งกลุ่ม micro จะมีจำนวนรายเยอะมาก” นายจตุฤทธิ์กล่าว

นายจตุฤทธิ์กล่าวว่า ยอดเคลมที่ลดลงเกิดจากส่วนหนึ่ง บสย.เข้าไปคุยกับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เพื่อให้ดำเนินการประนอมหนี้กับลูกหนี้ บวกกับตั้งแต่ปลายปี 2560 ทิศทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นทำให้ยอดหนี้เสียของเอสเอ็มอีลดลง

ทั้งนี้ สำหรับหนี้เสีย หรือภาระค้ำประกันที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPG) ของ บสย. ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ยังทรงตัวที่ระดับ 13.4% จาก ณ สิ้นปี 2560 หรือคิดเป็นมูลค่า 48,000 ล้านบาท

นางนิภารัตน์ พิสิฐพิทยเสรี รักษาการแทนผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ช่วงไตรมาสแรกปี 2561 (1 ม.ค.-31 มี.ค.) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดอนุมัติที่ 23,313 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของเป้าหมายในไตรมาสแรก สามารถช่วยผู้ประกอบการรายใหม่เข้าถึงสินเชื่อได้อีกกว่า 20,000 ราย ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อรวมไว้ที่ 1.1 แสนล้านบาท

“สะท้อนว่ายังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากต้องการเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อต่อยอดและขยายกิจการในธุรกิจต่าง ๆ โดย บสย.อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 5 หมวดธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการ 5,442 ล้านบาท สัดส่วน 23% 2.ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ 2,711 ล้านบาท 11% 3.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2,310 ล้านบาท 9% 4.ธุรกิจเกษตรกรรม 2,163 ล้านบาท 9% 5.ธุรกิจเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักร 2,020 ล้านบาท สัดส่วน 8%” นางนิภารัตน์กล่าว

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. กล่าวว่า คณะกรรมการ บสย.ได้เห็นชอบโครงการค้ำประกันใหม่ 2 โครงการ คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ micro entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ที่จะดำเนินการต่อจาก micro entrepre-neur ระยะที่ 2 และ PGS6 ที่จะหมดอายุในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังถึงวงเงินงบประมาณที่จะสนับสนุนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป