สศช.จี้แบงก์สกัด NPL เร่งปรับโครงสร้างหนี้ “รถ-บ้าน”

หนี้ครัวเรือน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไตรมาส 4 ปี 2566 และ ภาพรวมปี 2566

หนี้ครัวเรือนสูง-NPL พุ่ง

โดย “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนตัวเลขถึงไตรมาส 3 ปี 2566 ขยับตัวเพิ่มขึ้น 3.3% โดยมูลค่าเพิ่มจาก 16.09 ล้านล้านบาท เป็น 16.2 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 90.9% แต่พบว่าครัวเรือนเริ่มมีการชะลอการก่อหนี้ในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อยานยนต์ ซึ่งน่าจะมาจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้แบงก์ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 3.5% จาก 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในทุกประเภทสินเชื่อ จากข้อมูลธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่ายอดหนี้คงค้างเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.9% จาก 2.7% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน อีกทั้งครัวเรือนบางกลุ่มยังเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง

“การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลของสินเชื่อยานยนต์ยังมีอยู่ โดยในไตรมาส 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.1% และสินเชื่อบัตรเครดิตก็ยังคงมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก”

เช่นเดียวกับสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) จะเห็นได้ว่าในส่วนของสินเชื่อยานยนต์มีสัดส่วนอยู่ที่ 14.55% ต่อสินเชื่อรวมรายวัตถุประสงค์ ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วน 4.5% ซึ่งธนาคารพาณิชย์คงต้องมอนิเตอร์เรื่องนี้ และเร่งนำลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มาปรับโครงสร้างหนี้แต่เนิ่น ๆ

NPLs

จี้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ “รถ”

“ดนุชา” กล่าวว่า ในเรื่องหนี้สินครัวเรือนมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน อีกทั้งต้องติดตามการเข้ารับความช่วยเหลือของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง 2) การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับที่สะท้อนการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

“สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่อนุมัติได้เร็ว โดยเฉพาะสินเชื่อที่นำรถยนต์ไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเอสเอ็มและเอ็นพีแอลในสินเชื่อยานยนต์มากขึ้น ฉะนั้น ตรงนี้คงต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นเอ็นพีแอล”

และ 3) การติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ ควบคู่กับการติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบได้ในอนาคต

“จ้างงาน-อัตราว่างงาน” ดีขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า ในส่วนการจ้างงานในไตรมาส 4 ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น 1.7% ทำให้ภาพรวมทั้งปีมีการจ้างงาน 1.8% ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง โดยไตรมาส 4 เหลือแค่ 0.81% และทั้งปี 2566 ก็อยู่ระดับต่ำกว่า 1% คืออยู่ที่ 0.98% อยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 การจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งแรงงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร โดยแรงงานในภาคเกษตรอยู่ที่ 12.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1% ส่วนนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 27.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2% ซึ่งส่วนที่เพิ่มมากสุดก็คือสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น 8% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงไฮซีซั่น รวมทั้งเป็นผลมาจากมาตรการฟรีวีซ่า และการขยายเวลาพำนักให้แก่นักท่องเที่ยว

จับตาสาขา “การผลิต-ขนส่ง”

“แต่ในสาขาการผลิต กำลังแรงงานปรับตัวลดลง 2.3% ตามการชะลอตัวของการผลิตสินค้า อาทิ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและเครื่องมือ เช่นเดียวกับสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า หดตัวลงตามสถานการณ์ด้านการส่งออกทั้งปีที่หดตัว 1.7%”

ชู 3 ประเด็นแก้ปัญหาแรงงาน

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 2.ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งพบว่าตำแหน่งงานที่ว่างอยู่เทียบกับจำนวนผู้สมัคร ห่างกันอยู่ถึง 6.8 เท่า และ 7.1 เท่าตามลำดับ

และ 3.การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน