แบงก์ชาติเปิด 4 เหตุผล ทำไม “ไม่ลดดอกเบี้ย”

แบงก์ชาติ

แบงก์ชาติตอบประเด็นร้อน อธิบาย 4 เหตุผล “เงินเฟ้อติดลบ” แล้วทำไมถึงยังไม่ลดดอกเบี้ย

วันที่ 16มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องถึง 8 ครั้ง ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.5% แม้ว่าบางช่วงอัตราเงินเฟ้อจะติดลบ เมื่อวันที่15มกราคมที่ผ่านมา ธปท.ได้จัดเวทีเปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ เพื่อตอบคำถามประเด็นร้อน

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง.ชี้แจงถึงกรณีที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ แล้วทำไม กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย ว่า มี 4 เหตุผลหลัก คือ 1.เงินเฟ้อที่ติดลบ มาจากปัจจัยเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน

2.การลดดอกเบี้ยไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่แผ่วลงไปมาก เพราะนโยบายการเงินไม่สามารถตอบสนองปัจจัยเหล่านั้นได้ 3.เงินเฟ้อคาดการณ์ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในระดับ 2% ในหลายมิติ และ 4.การลดลงของเงินเฟ้อเป็นปัจจัยปัญหาด้านอุปทานในภาคการผลิตที่คลี่คลายลงในบางสินค้า

“เราจะเห็นเงินเฟ้อยังคงติดลบ จนถึงเดือน ก.พ. แล้วจะค่อย ๆ ทยอยเพิ่มขึ้นไปที่ 1-2% ภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมีการประชุม กนง.นัดพิเศษ โดย กนง.จะประชุมนัดแรกปลายเดือน ม.ค.นี้ และประกาศผลในต้นเดือน ก.พ.”

เลขานุการ กนง. อธิบายว่า การดำเนินนโยบายการเงิน เป็นสิ่งที่ยากลำบาก เพราะกระทบวงกว้าง มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ถามว่าเดินมา “ผิดทาง” หรือ “ผิดพลาด” หรือไม่ ตอบได้เลยว่า “ไม่” ทั้งนี้ เวลาขึ้นดอกเบี้ยจะมี 2 ส่วน คือ

1.กระทบต่อภาระดอกเบี้ยประชาชนเพิ่มขึ้น และ 2.เพิ่มแรงจูงใจการก่อหนี้ใหม่ แต่ปัจจุบันด้วยระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้ช่องในการก่อหนี้น้อยลง แต่ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง

นอกจากนี้ กนง.ได้คิดนโยบายเพื่อให้สามารถรองรับได้หลายกรณี เช่น กรณีแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ที่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก แต่ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาในช่วง 2 ครั้งล่าสุดที่ 2.25-2.50% ต่อปี แม้ว่าดิจิทัลวอลเลต จะมาช้าหรือเร็วกว่าที่คาด หรือมีการเปลี่ยนแปลง แต่ดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวสามารถรองรับทั้ง 2 กรณีได้ โดยที่เศรษฐกิจที่ยังสามารถอยู่ในขอบเขตที่ใช้ได้

นายปิติกล่าวอีกว่า กนง.รับฟังทุกภาคส่วน และมีการประสานงานกับกระทรวงการคลัง รวมถึงนายกรัฐมนตรี แล้วนำมาดูว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นหรือไม่ บทบาทนโยบายการเงินเหมือนเป็นประตูเป็นกองหลังของทีมฟุตบอล โดยประชาชน-ภาคธุรกิจเป็นกองหน้าที่จะลงสนาม

“หน้าที่ธนาคารกลางคือเป็นผู้รักษาประตู กระทรวงการคลังเป็นโค้ชหรือกัปตัน ส่วนรัฐบาลคือผู้จัดการทีมที่จะปรับโครงสร้างหลาย ๆ อย่างได้กว้างกว่า ซึ่งบทบาทจะเห็นชัดว่าทำหน้าที่ของเราได้ดีที่สุดแล้ว การจะทำเกินหน้าที่ ต้องพิจารณาว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่”