“ขุนคลัง” ตั้งกลุ่มงานสร้าง Big data เชื่อมโยงข้อมูลทุกกระทรวง หนุนวางนโยบายประเทศ

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง รับนโยบายร่วมสร้าง Big Data เชื่อมโยงข้อมูลทุกกระทรวง หนุนวางนโยบายพัฒนาประเทศ แนะตั้งกลุ่มงานใต้สังกัดหน่วย “เทคโนโลยี” มอบหมายสำนักปลัดเป็น”แกนกลาง” ดูแลยกระดับช่วยวิเคราะห์ข้อมูล-เร่งสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงโดยเร็ว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในระยะยาวมีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่ง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้มอบหมายให้สภาพัฒน์เป็นแกนหลักในเรื่องนี้ และคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงได้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ ผู้มีรายได้น้อย

ทั้งนี้ จากนโยบายดังกล่าวทางกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักปลัดเป็น “แกน” ดูแลในส่วนนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มงานเล็ก ๆ ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ อาจจะไม่ได้ถึงขนาดจัดตั้งเป็นหน่วยงาน แต่สังกัดอยู่ในหน่วยงานเทคโนโลยีของกระทรวงการคลัง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลส่วนไหนสำคัญ และจะเร่งสร้างแพลตฟอร์มสำหรับกระทรวงได้โดยเร็ว ขณะนี้กระทรวงคลังได้เตรียมพร้อมเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ ได้ แม้ว่าข้อมูลกระทรวงการคลังจะมีจำนวนมาก แต่หากมีข้อมูลจากกระทรวงอื่นๆ จะทำให้สามารถมีข้อมูลที่จะทำอะไรได้ลงไปลึกกว่านั้นได้อีก

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมมูลที่มีจะต้องเป็นข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ (Data Analytic) ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และหัวใจสำคัญคือจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะต้องบอกได้ว่าข้อมูลอะไรที่สำคัญ ก่อนจะนำมารวมกันและสามารถนำไปใช้วิเคราะห์หรือสังเคราะห์ต่อได้

“สำหรับการรวมข้อมูลในภาพรวมจริงๆ แล้วในประเทศไทยยังไม่ได้มีใครทำ ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้มอบหมายให้ทุกๆ หน่วยงานเร่งทำ โดยกระทรวงการคลังก็ได้ทำเรื่อง Big Data นี้พอสมควร” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนแรกที่กระทรวงคลังได้ทำไปแล้วคือการรวมข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรให้มีเบอร์บัญชีเดียว ขณะเดียวกันสามารถเชื่อมผู้เสียภาษีอากรระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตรให้เชื่อมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้สามารถที่จะเก็บข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรได้ และช่วยให้สามารถขยายฐานภาษีได้มากขึ้น

ส่วนที่สองคือ กระทรวงคลังได้ทำข้อมูลผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเก็บข้อมูลได้จากผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินจากรัฐนำไปซื้อสินค้าอะไรและไปซื้อที่ไหน ส่วนนี้จะทำให้สามารถที่จะขยายนโบายในอนาคตต่อไปได้ โดยจะบอกว่าคนเหล่านี้มีความจำเป็นอะไร ในเรื่องการขึ้นรถไฟ,บขส.ชี้ชัดเหมือนกันว่าคนเหล่านี้เดินทางไปที่ไหน ใช้ช่วงเวลาไหน ซึ่งเป็นข้อมูลใหญ่ที่กระทรวงการคลังมีอยู่

และสำหรับส่วนที่สาม คือ กระทรวงคลังได้ทำคืออาศัยข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก และรัฐวิสาหกิจก็มีข้อมูลของตัวเอง จากนี้สิ่งที่ต้องทำ คือ นำเอาข้อมูลของทุกรัฐวิสาหกิจซึ่งสามารถเชื่อมโยงกันได้นำมาเชื่อมโยงกัน และผลที่เกิดมาก็คือว่าครั้งนี้การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อช่วยเอสเอ็มอี ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งหมดจะได้รับการช่วยเหลือจากข้อมูลที่มีสามารถวิเคราะห์ขึ้นมาได้

“ในที่สุดเอสเอ็มอีจะได้แหล่งเงินที่เร็วขึ้น ขณะเดียวกันด้วยกลุ่มแบงก์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะทำให้ต้นทุนการให้สินเชื่อ (credit cost) ลดลงได้ สามารถที่จะให้ดอกเบี้ยถูกลงไปได้ ประกอบกับกลุ่มแบงก์เองสามารถที่จะวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ้งเป็นจุดเริ่มต้น และยังมีความสามารถที่จะไปต่อได้อีก แต่ถือเป็นทิศทางที่ดีที่อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่าถ้าข้อมูลเหล่านี้ผสมผสานและร่วมมือกันได้ผู้ได้รับประโยชน์คือประชาชน” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านบูรณาการข้อมูลการเงินและสาธารณูปการระหว่าง สคร.และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐกว่า 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

และรัฐวิสาหกิจกลุ่มสาธารณูปการ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการวางนโยบายของประเทศได้ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยยึดถือประโยชน์ประชาชนได้รับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง

“ซึ่งแสดงให้เห็นในเบื้องต้นว่าการทำ Big Data จะทำได้อย่างไร เราบอกว่าเรากำลังจะเข้าสู่ Digital Economy ในเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งจากการเข้าร่วมประชุมในต่างประเทศ ทุกองค์ประชุมต่างขับเคลื่อนเรื่องดิจิทัล และแต่ละประเทศจะก้าวเร็วอยากจะไปเร็ว ทีนี้การเข้าสู่ยุคดิจิทัลนอกจากในเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปที่จะต้องก้าวให้ทันแล้ว ก็จะมีเรื่องของคนที่จะต้องทำด้วย ขณะเดียวกันส่วนที่เป็นพื้นฐานสำคัญ คือ ข้อมูล (Data) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสามารถที่จะเอาข้อมูล (Data) ทั้งหลายมาวิเคราะห์และรวมกันเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ ซึ่งสามารถนำไปประเมินการทำนโยบายต่างๆ ได้”