บอร์ด ก.ล.ต.ไฟเขียว เกณฑ์ชอร์ตเซล-บอตเทรด บังคับใช้ Q3 ดูผล 3-6 เดือน เอาไม่อยู่ ทบทวนใหม่

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล

บอร์ด ก.ล.ต.ไฟเขียว เกณฑ์คุม “ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรดดิ้ง บังคับใช้ไตรมาส 3/67 ติดตามผล 3-6 เดือน เอาไม่อยู่ ทบทวนเกณฑ์ใหม่ ลุยแก้กฎหมายเพิ่มความรับผิดผู้ลงทุนที่ไม่ทำตามเกณฑ์

วันที่ 11 มีนาคม 2567 นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรการใหม่เพื่อควบคุมธุรกรรมขายชอร์ต (Short Selling : SS) และมาตรการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading : PT) ว่า ปัจจุบันคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้เห็นชอบในหลักการของเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดแล้วตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเสนอ

ต่อจากนี้ตลาดหลักหลักทรัพย์ฯจะต้องนำหลักเกณฑ์ไปเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) กับภาคธุรกิจช่วงประมาณไตรมาส 2/2567 รวมทั้งให้ภาคธุรกิจเตรียมความพร้อมเรื่องระบบ ซึ่งหากไม่มีความเห็นเป็นอื่น คาดว่าหลาย ๆ มาตรการจะบังคับใช้ได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2567 หลังจากนั้นสำนักงาน ก.ล.ต.จะติดตามผลของมาตรการไประยะเวลา 3-6 เดือน หากควบคุมไม่ได้จะทบทวนมาตรการเพิ่มเติม

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวเพิ่มว่า สำหรับมาตรการควบคุม SS เป้าหมายแรกคือ 1.เพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขาย โดยแยกออกเป็น 1.1.เพิ่มคุณภาพหุ้นที่ SS ได้ โดยการเพิ่มขนาดมาร์เก็ตแคปหุ้นจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท เพื่อให้แน่ใจว่าหุ้นที่จะนำมาชอร์ตเซลเป็นหุ้นขนาดใหญ่จริง ๆ ส่งผลให้หุ้นที่จะชอร์ตเซลได้ลดจาก 36% ของทั้งตลาด เหลือประมาณ 28% ซึ่งใกล้เคียงกับภูมิภาค โดยจะหายไป 61 หลักทรัพย์ จาก 292 หลักทรัพย์ เหลือเพียง 231 หลักทรัพย์

“ซึ่งหากเกณฑ์ใหม่เอาไม่อยู่ สามารถทบทวนเกณฑ์มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 10,000 ล้านบาทได้” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวเสริม

นางวรัชญากล่าวอีกว่า และจะเพิ่มเกณฑ์สภาพคล่อง โดยต้องเป็นหุ้นที่มี Turnover โดยเฉลี่ยมากกว่า 2% ต่อเดือน เพราะหุ้นชอร์ตเซลขายไปแล้วจะต้องซื้อคืน เพื่อไม่ให้เป็นกลไกเอาไปสร้างความไม่ปกติในตลาดได้

และ 1.2.การปรับปรุงการส่งคำสั่งซื้อขาย (Trading Rules) จากปัจจุบันใช้ Zero-plus tick หมายความว่าเวลาใครจะขายชอร์ต จะต้องส่งคำสั่งที่ไม่ต่ำไปกว่าการซื้อขายครั้งหลังสุด ต่อไปจะเพิ่มการใช้ Uptick Rule เมื่อราคาหุ้นลดลงมากกว่า 10% ของราคาปิดของวันก่อนหน้า ซึ่งจากการติดตามข้อมูลในช่วงเดือน ก.พ.2567 มีประมาณ 71 หลักทรัพย์ที่ราคาลดลงมากกว่า 10% ซึ่งถือว่าไม่น้อยทีเดียว รวมถึงการกำหนดเพดาน SS รายหลักทรัพย์รายวัน และเปิดยอด SS คงค้างรายวันด้วย

ทั้งนี้จากการติดตามธุรกรรม SS ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เห็นปริมาณ SS เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2565 จากระดับ 5% ของมูลค่าซื้อขายรายวันเฉลี่ยทั้งตลาด ขยับมาเป็น 6% ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 7% ในปี 2567 โดยมาจากนักลงทุนต่างชาติที่เป็น PT ประมาณ 79% และที่เหลือ 3% เป็นนักลงทุนรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ธุรกรรม SS จะอยู่ในหุ้น SET100 อย่างไรก็ตามมูลค่าซื้อขายรายวัน ยังคิดเป็นแค่ 3-6% ของมูลค่าคงค้างทั้งหมดของหุ้นแต่ละตัวเท่านั้น

นางวรัชญากล่าวต่อว่า ถัดมาเป้าหมายที่สองคือ 1.ป้องปรามการไม่ SS ตามเกณฑ์ ซึ่งจะแยกออกเป็น 1.1.เพิ่มคุณภาพการทำหน้าที่ตรวจสอบของตัวกลาง โดยสำนักงาน ก.ล.ต.จะให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรณีรับลูกค้าที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์อีกทอดนึง เช่น โบรกเกอร์ในต่างประเทศ จะต้องทำ know Your Process (KYP) เพื่อกลั่นกรองการส่งคำสั่ง สุ่มตรวจ และมีข้อตกลงกับลูกค้าให้ทำตามเกณฑ์ ยินยอมให้ไล่เบี้ยค่าปรับ โดย บล.ต้องบังคับตามข้อตกลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แน่ใจมากขึ้นว่าในทุกชั้นจะมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างพิจารณาพัฒนาระบบกลางให้ บล.ตรวจสอบหลักทรัพย์ได้ว่าใครมีหุ้นไม่มีหุ้นก่อนจะส่งคำสั่งซื้อขาย และจะเพิ่มอัตราโทษ บล.ที่ไม่ทำตามเกณฑ์ SS ให้เทียบเท่าต่างประเทศ กรณีพบ Naked Short Sell จะปรับ 3 เท่าของกำไร แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และกรณี SS ไม่ตามเกณฑ์ ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท/ครั้ง

และ 1.2.แก้กฎหมายเพิ่มความรับผิดตลอดสาย โดยสำนักงาน ก.ล.ต.จะลงโทษผู้ลงทุนที่ไม่ทำตามเกณฑ์ รวมถึงเพิ่มกลไกให้รู้ได้ว่าใครคือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง (End Beneficiary) ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของ บล. ยังไปไม่ถึงผู้ลงทุนตัวจริง จึงจะมีการแก้กฎหมายเพื่อทำให้ผู้ลงทุนที่ไม่ทำตามเกณฑ์มีโทษด้วย

และ 1.3.เพิ่มการทำหน้าที่ Gatekeeper นั่นคือ Custodian เพราะปกติเวลาเห็นลูกค้าต่างประเทศซื้อขายหุ้น จะฝากหุ้นไว้กับ Custodian ซึ่ง Custodian เหล่านี้จะเป็นสมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) จึงจะให้ Custodian แจ้งวัตถุประสงค์การโอนหุ้นเพื่อการสอบยันการทำรายการยืมหุ้น ซึ่งจะเป็นอีกกลไกนึงที่จะทำให้โบรกเกอร์สามารถจะเช็กได้ว่าลูกค้าต่างประเทศมีการยืมหุ้นมาชอร์ตจริงหรือไม่ และถ้ามีได้ทำตามเกณฑ์หรือเปล่า

“สิ่งที่เราทบทวนรอบนี้ไม่ได้มาจากการที่มีข่าวการทำ Naked Short Sell แล้วเราเอาผิดไม่ได้ แต่สิ่งที่เราเห็นมันเป็นประเด็นมากกว่านั้นคือการมี SS แล้วกระทบกับคุณภาพของตลาด ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่ายาเม็ดเดียวมันแก้ไม่ได้ทุกโรค แต่ถ้าใช้ยาหลายเม็ดมันก็ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นได้“ เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว

นางวรัชญากล่าวถึงมาตรการควบคุม PT เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีแนวทางปรับปรุงด้วยกัน 4 เรื่องคือ 1.รู้ตัวตน ตรวจสอบได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะขึ้นทะเบียน High Frequency Trading (HFT) หรือการซื้อขายด้วยความถี่สูงด้วยอัลกอริทึม เพื่อให้สามารถติดตามการซื้อขายได้สะดวกขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี 2564 ข้อมูล HFT เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติสัดส่วน 98% และจากรอบระยะเวลานี้พบข้อมูลการซื้อขายจะเป็นการส่งคำสั่งปกติ 67% เป็น PT ที่ไม่ใช่ HFT ประมาณ 18% และที่เป็น HFT อีกประมาณ 15%

“ตอนนี้ HFT ที่เป็นห่วงกันคือพวกการติดตั้งเครื่องเซิฟเวอร์ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเชื่อมต่อส่งคำสั่งซื้อขาย รับบริการข้อมูลราคา หรือที่เรียกว่า Co-location ซึ่งกังวลกันว่าจะมีปริมาณเยอะขึ้น และพวกนี้เนื่องจากอยู่ใกล้ สมองก็เร็ว พาวเวอร์ก็สูง จะมีความได้เปรียบเรื่องความเร็วหรือเปล่า” นางวรัชญากล่าว

2.ทบทวนพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะเพิ่มคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม จัดทำระบบกลางคัดกรองคำสั่งที่ไม่เหมาะสม (Central Order Screening) และใช้ Order Resting Time ป้องกันคำสั่งไถ่ถอนถี่เกินไป (Spoofing)

และ 3.ควบคุมความผันผวน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะใช้ Dynamic Price Band พักกาารซื้อขายชั่วคราว ถ้าราคาหุ้นบวกลบ 10%% จากราคาล่าสุด และใช้ Auction กรณีหุ้นอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย

และ 4.ป้องปรามผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ทบทวนเกณฑ์การ sanction ลูกค้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และตลาดหลักทรัพย์ฯจะเปิดเผยรายชื่อผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้ทุก บล.ทราบเพื่อให้ดำเนินการตามที่กำหนด

เกณฑ์ชอร์ตเซล-บอทเทรด

เกณฑ์ชอร์ตเซล-บอทเทรด