วิจัยกรุงศรี ชี้เศรษฐกิจไทยโตแผ่ว-เงินเฟ้อต่ำ หนุน กนง.ลดดอกเบี้ยกลางปีนี้

กรุงศรี krungsir

วิจัยกรุงศรี เผยการบริโภค-ท่องเที่ยว-มาตรการค่าครองชีพหนุนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก หนุนความเชื่อมั่นปรับขึ้น ด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำเพิ่มโอกาส กนง.อาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้

วันที่ 12 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยหนุนการบริโภคเติบโต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 48 เดือน ที่ 63.8 จาก 62.9 ในเดือนมกราคม ปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy-E-Receipt และมาตรการบรรเทาค่าครองชีพด้านราคาพลังงาน รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ปัจจัยบวกจาก

1.ความเชื่อมั่นที่ยังมีแนวโน้มปรับดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ใน 6 เดือนข้างหน้ายังทยอยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 71.9 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

2.ภาคท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนการจ้างงานและเพิ่มรายได้แก่แรงงานในภาคบริการ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 6.39 ล้านคน (คิดเป็น 87% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2562 หรือก่อนเกิดการระบาดโควิด-19) สร้างรายได้เข้าประเทศ 3.10 แสนล้านบาท (88% ก่อนเกิดการระบาด)

3.มาตรการภาครัฐทั้งมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ การพักหนี้เกษตรกร และการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า และมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อรายได้และผลผลิตในภาคเกษตร รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวสูงและกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและกำลังซื้อในประเทศ อีกทั้ง pend-up demand ปีนี้หายไป และอาจต้องระวัง payback effect จากมาตรการ Easy-E-Receipt ที่สิ้นสุดลงเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์

นอกจากนี้ ยังเผชิญข้อจำกัดจากภาระหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง จึงคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้อาจเติบโตราว 3% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 7.1% ในปีที่แล้ว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 คาดผ่านจุดต่ำสุดและจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 2 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ -0.77% YOY เทียบกับเดือนมกราคม ซึ่งต่ำสุดในรอบ 35 เดือนที่ -1.11% ผลจากการลดลงของราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้า ซี่งราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.43% ชะลอลงจาก 0.52% ในเดือนมกราคม สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ -0.94% และ 0.47% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปีมีแนวโน้มจะติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและการช่วยเหลือค่าใฟฟ้าแก่ประชาชนบางส่วน แต่ในระยะถัดไปคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงที่หมดลง

และยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม อาทิ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เมษายนนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจผันผวนจากความเสี่ยงของภัยแล้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงต้นทุนค่าจ้างที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 2 ในปีนี้

ซึ่งล่าสุดกระทรวงแรงงานระบุว่าคณะกรรมการค่าจ้างกำลังพิจารณาแนวทางในการปรับ โดยมีแนวโน้มจะปรับขึ้นเฉพาะบางจังหวัด บางพื้นที่ และบางสาขาอาชีพ เบื้องต้นวางแผนให้มีผลในช่วงไตรมาส 2

สำหรับมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย วิจัยกรุงศรีประเมินจากภาวะเศรษฐกิจแม้มีการฟื้นตัวจากปีก่อนแต่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำ แรงส่งทางเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้มีทิศทางอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 (ปี 2559-2562 เฉลี่ยที่ 0.7% และ 0.6% ตามลำดับ) จึงเพิ่มโอกาสที่คณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในช่วงกลางปีนี้