กรุงศรีฯ คาดเฟดลดดอกเบี้ยแรง-กนง.อิงเสถียรภาพ

กรุงศรีลด ดบ.

วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินเศรษฐกิจไทยปี’67 ขยายตัว 2.7% ชี้ท่องเที่ยว-บริโภคเป็นพระเอก มั่นใจไทยไม่ “ถดถอย” พร้อมคาดการณ์ เฟดหั่นดอกเบี้ยแรง 0.75-1% ส่วน กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยช่วงกลางปี อิงตามตัวเลขเศรษฐกิจ

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.7% สูงกว่าปี 2566 ที่ขยายตัวเพียง 1.9% โดยเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนจะมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาฟื้นตัว

ซึ่งคาดว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 9.3% จากงบประมาณปีก่อน จะได้รับการอนุมัติภายในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การบริโภคกลับมาขยายเป็นบวกที่ 1.5% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.4%

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ
ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ

ทั้งนี้ คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อยู่ที่ 35.6 ล้านคน จากปีก่อนอยู่ที่ 28.2 ล้านคน ซึ่งส่งผลต่อมายังการบริโภคและการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.1% อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นแรงกดดัน

“มองไปในระยะข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 จะขยายตัวได้ดีขึ้น จากไตรมาส 4/2566 จากปัจจัยบวกที่มีมากขึ้น และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาบ้าง ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกด้วย”

ดร.พิมพ์นารา กล่าวว่า การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นนางเอก หลัง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดก๊อก อะไรที่ถูกอั้นไว้ก็สามารถเบิกจ่ายได้ เช่น การลงทุนใน EEC รถไฟรางคู่ หรือ รถไฟเชื่อมต่อ 3 สนามบิน อย่างไรก็ดี ต้องการเห็นการลงทุนที่เป็นรูปธรรมมากกว่าปริมาณ โดยเป็นการลงทุนที่ประชาชนได้ประโยชน์ และภาคธุรกิจสามารถต่อยอดได้ และนโยบายสอดคล้องกันทุกกระทรวง

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดร.พิมพ์นารากล่าวว่า คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยลงค่อนข้างแรง 0.75-1.00% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลง จะหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้ รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มีรายรับจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ซึ่งหนุนให้เงินบาทสิ้นปีแข็งค่าที่ 34.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสที่จะสามารถปรับลดได้ภายในช่วงกลางปีนี้ จากเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน เป็นผลมาจากมาตรการค่าครองชีพ แต่หากหักผลจากมาตรการดังกล่าว เงินเฟ้อจะกลับมาใกล้เคียง 0% โดยทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อที่จะอยู่ที่ 1.1% ใกล้เคียงกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3%

รวมถึงเศรษฐกิจที่ไม่ได้พุ่งแรงมาก ทำให้ กนง.สามารถปรับดอกเบี้ยได้ โดยในตลาดการเงินมีการคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ภายในปีนี้

“เชื่อว่า กนง.จะพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากการส่งผ่านดอกเบี้ยจะใช้เวลานานประมาณ 6-18 เดือน”