เปิด 4 เหตุผล ทำไม กนง.ไม่ลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด

กนง. ดอกเบี้ย

กนง.เปิด 4 ปัจจัย หนุนคงดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี มองการลดอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มแรงส่งต่อเศรษฐกิจได้ไม่มาก และการใช้ “policy space” ที่มีจำกัดอย่างไม่คุ้มค่า เหตุเศรษฐกิจชะลอจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง-เพิ่มแรงกระตุ้นการก่อหนี้ใหม่ให้ระบบเศรษฐกิจ ย้ำพร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามสถานการณ์เปลี่ยนไป

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และ 7 กุมภาพันธ์ 2567 โดยคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นางอลิศรา มหาสันทนะ (รองประธาน) นางรุ่ง มัลลิกะมาส นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายรพี สุจริตกุล นายสันติธาร เสถียรไทย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

ทั้งนี้ จากคณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

โดยคณะกรรมการตระหนักถึงผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดเล็กและกำไรต่ำ หรือครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงที่จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ จึงสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการผลักดันให้สถาบันการเงินดำเนินมาตรการปรับโครงสร้าง หนี้อย่างต่อเนื่องและการใช้มาตรการเฉพาะจุด เช่น การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ซึ่งจะมีประสิทธิผลมากกว่า และมีต้นทุนน้อยกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลกว้างระดับมหภาค (Blunt Tool)

ทั้งนี้ คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ (Neutral Interest Rate) จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยเห็นว่า

1.เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลง และผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

2.การลดอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มแรงส่งต่อเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก ในบริบทที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง และไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้ Policy Space ที่มีจำกัดอย่างไม่คุ้มค่า

3.ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจมีนัยต่อ Neutral Interest Rate ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบดังกล่าวประเมินว่ามีไม่มาก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ความชัดเจนที่มากขึ้น

4.ต้นทุนของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไป คือการกระตุ้นการสร้างหนี้ใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจที่ปัจจุบันอยู่ในที่ระดับสูงมากอยู่แล้ว และอาจทำให้กระบวนการลดหนี้ (Deleveraging) ที่กำลังคืบหน้าหยุดชะงัก

นอกจากนี้ อาจเพิ่มพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่เสี่ยงมากขึ้น (Search for Yield) ลดทอนแรงจูงใจในการพัฒนาด้านศักยภาพการผลิต ส่งผลลบต่อประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งเพิ่มการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี กรรมการมีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ