กอบศักดิ์ มองแบงก์ชาติรอจังหวะเหมาะสม “ลดดอกเบี้ย” คาดเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลัง

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

กอบศักดิ์ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นครึ่งปีหลัง แรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออก-ท่องเที่ยว-ลงทุนจากต่างชาติหนุน ส่วน “ลดดอกเบี้ย” เชื่อแบงก์ชาติรอจังหวะเหมาะสม คาดช่วยเศรษฐกิจได้แต่ไม่เปลี่ยนอนาคตระยะยาว

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรงุเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ ครึ่งปีแรกค่อนข้างจะลำบาก เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจในต่างประเทศ อย่าง อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนีติดลบติดต่อกัน โดยในปีนี้มีหลายประเทศผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการได้รับผลพวงจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง คาดว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นอยู่อย่างน้อยครึ่งปี กว่าที่จะมั่นใจในเรื่องของเงินเฟ้อ เนื่องจากปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ทำให้ต้องคงดอกเบี้ยไว้เป็นเวลาที่นาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบกับประเทศอื่น ๆ ด้วย

“ดังนั้น เศรษฐกิจจึงต้องต่อสู้กับดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกันหลาย ๆ ปี อย่างน้อย 2 ไตรมาส หลังจากนั้นช่วงปลายปีถึงจะเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย“

โดยหลังจากมีการเริ่มลดดอกเบี้ยของประเทศอื่น ๆ จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทั้งภาคการส่งออกของไทย ขณะที่ยังกังวลเรื่องของเศรษฐกิจจีน จากที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปีลง 0.25% สู่ระดับ 3.95% ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาในประเทศจีน สิ่งนี้มีนัยสำคัญ เนื่องจากสินค้าจีนที่ขายในประเทศจีนไม่ได้กำลังมาตีตลาดในอาเซียน รวมถึงในประเทศไทย และมีราคาที่ถูก

ขณะที่ในปีนี้มองว่าเศรษฐกิจจะมีแรงขับเคลื่อนอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การส่งออกที่จะเริ่มดีขึ้น 2.นโยบายการท่องเที่ยวจะช่วยได้ โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคนจีนเข้ามาไทยแล้วกว่า 1 ล้านคน โดยมองว่าปีนี้นักท่องเที่ยวน่าจะเดินทางมาไทยมากกว่า 35 ล้านคน และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 2-3% 3.ต่างชาติจะเริ่มมาลงทุนที่ไทย แต่คงต้องรออีกสักระยะ จากงบประมาณภาครัฐช่วงเดือนเมษายนที่ค้างท่ออยู่จะถูกกดให้ออกมา ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ส่วนของตลาดทุนในปัจจุบันไม่ได้น่ากังวลใจ เนื่องจากเริ่มกลับเข้ามาอยู่ในจุดที่เหมาะสม ซึ่งหากอยากให้หุ้นไทยไปได้ดีในระยะยาว ต้องขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างแท้จริง “เวลาเขาซื้อหุ้นเขาซื้ออนาคต ถ้าอนาคตไม่สดใสหุ้นก็ยากที่จะไปได้ดี ส่วนหุ้นที่จะได้อานิสงส์ในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มแบงก์ยังไปต่อได้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน มองว่าปกติดอกเบี้ยจะดูตามประมาณการของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ ปัญหาคือในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจอ่อนกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้เฉลี่ยยังอยู่ที่ 2-3% การที่เศรษฐกิจอ่อนลงและเงินเฟ้อต่ำกว่าที่คาดไว้ก็สามารถที่จะมีการกระตุ้นจากนโยบายการเงินบ้าง เพียงต้องตัดสินใจว่าเวลาไหนถึงจะเหมาะสม และต้องมองถึงอนาคตว่าการลดดอกเบี้ยจะเป็นจังหวะไปเสริมกับเศรษฐกิจที่ฟื้นแล้วเพราะดอกเบี้ยกว่าจะออกผลต้องใช้เวลาประมาณเกือบ 1 ปี

“เวลาแบงก์ชาติลด แบงก์อื่น ๆ ก็ต้องใช้เวลากว่าจะลด แล้วเวลาแบงก์ลดก็ไม่ได้เยอะ ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็ช่วยได้บ้าง ในการลดต้นทุน แต่เศรษฐกิจกว่าที่จะส่งผลต้องใช้เวลา”

ทั้งนี้ หากดูจากตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนกว่าที่คิดไว้ ขณะที่เงินเฟ้อติดลบ ดังนั้นหากแบงก์ชาติจะมีการปรับแนวคิดเรื่องของดอกเบี้ยจะอยู่ในจุดที่เหมาะสมก็ทำได้ จากการประเมินเศรษฐกิจที่ผิดไปจากที่เคยคิดไว้ เพียงแต่เขาคงมีจังหวะเวลาที่เหมาะสม

“ลดดอกเบี้ยช่วยได้บ้างแต่ไม่ได้เปลี่ยนอนาคตระยะยาว อยากให้ทุกคนมั่นใจในประเทศไทย จะไปบอกนักลงทุนว่ามีการลดดอกเบี้ยแล้วก็คงช่วยได้ไม่มาก แต่หากบอกว่าทำให้ประเทศไทยเป็น Hup นั้นจึงจะช่วยได้ หัวใจหลักอยู่ที่ว่าเราสร้างอนาคตที่แท้จริงให้กับประเทศได้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว