บาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

เงินบาท ธนบัตร
Thai baht notes REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้ คาดดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.1% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี

วันที่ 12 มีนาคม 2567ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/3) ที่ระดับ 35.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 35.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 1/2567 นอกจากนี้ผลการสำรวจของเฟด สาขานิวยอร์ก พบว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 3.0% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ส่วนตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะเวลา 3 ปี เพิ่มขึ้น 0.3% สู่ระดับ 2.7% ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะเวลา 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 2.9%

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ก.พ.ในวันนี้ (12/3) โดยตลาดคาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.1% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขณะที่คาดดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน

ทั้งนี้ เฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 19-20 มี.ค. ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.42-35.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.54/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/3) ที่ระดับ 1.0927/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนตัวลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 1.0937/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคชาวเยอรมัน (Geman Consumer Price Index (CPI) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.4% ในเดือน ก.พ. 2567 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สอดคล้องตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้และสูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือน ม.ค. โดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0922-1.0939 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0924/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/3) ที่ระดับ 146.93/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 146.58/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานในวันนี้ (12/3) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.2% ในเดือน ก.พ. 2567 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.1% และสูงกว่าระดับ 0.0% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI ของญี่ปุ่นในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.6% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาด แต่สูงกว่าระดับ 0.20 ในเดือน ม.ค.

นอกจากนี้ นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่า BOJ เปิดเผยในวันนี้ (12/3) ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในอนาคตอันใกล้นี้ โดยผู้ว่าการ BOJ ระบุว่า ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลส่งสัญญาณชะลอตัว แต่การใช้จ่ายด้านทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้เกิดกระแสคาดการณ์ในตลาดว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.นี้ หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดและรายงานของสื่อต่าง ๆ แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในผลสำรวจของบลูมเบิร์กยังคงคาดว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.63-147.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.31/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.พ.ของสหรัฐ (12/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือน ม.ค.ของสหราชอาณาจักร (13/3), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ. ของสหรัฐ (14/3), ดัชนียอดขายปลีกเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (14/3),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/3), ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (14/3), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufachuring Index) เดือน มี.ค.จากเฟดนิวยอร์ก (15/3) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน มี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (15/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.70/-9.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.50/-8.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ