CIMBT กางแผนปี 67 สินเชื่อโต 5% รุก “รายย่อย-อาเซียน” เดินหน้าลดพอร์ต SMEs

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กางแผนธุรกิจปี 67 ขอโตสินเชื่อ 5% เจาะ 4 กลุ่มธุรกิจ ลุยปล่อยสินเชื่อรายย่อย “รถยนต์-บ้าน” ไม่หวั่นหนี้เสีย พร้อมหนุนลูกค้าขยายธุรกิจอาเซียน-ลูกค้ามั่งคั่ง ลุยปรับพอร์ตลดเอสเอ็มอี คาด 3-4% เหลือต่ำกว่า 1%

วันที่ 15 มีนาคม 2567 พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าอัตราการเติบโตสินเชื่อ 5% จากปีก่อนอยู่ที่ -4.1% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 3.3-3.5% จากปีก่อน 3.3% และรักษาต้นทุนทางการเงิน (Cost to Income : CIR) อยู่ที่กลาง 50% ลดลงจาก 62.7% โดยเป้าหมายการเติบโตสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาพรวม

“การตั้งเป้าเติบโต 5% จะมาจากสินเชื่อรถ อาเซียน และจะรันดาวน์พอร์ตเอสเอ็มอี แม้ว่าสัดส่วนธุรกิจจะเปลี่ยนไป แต่โดยรวมธุรกิจยังสามารถเติบโตได้ โดยในส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารปัจจุบัน ถือว่ามีพอร์ตต่ำมาก มีสัดส่วนเพียง 2.5% หากเทียบกับสินเชื่อทั้งหมด ดังนั้น การแข่งขันในสินเชื่อเอสเอ็มอี อาจมีความยากลำบาก หากเทียบกับเจ้าอื่น ๆ ในตลาด เราจึงลดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีลงต่อเนื่อง โดยคาดภายใน 3-4 ปี จะเห็นพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีต่ำกว่า 1% และกลยุทธ์ของธนาคารมุ่งไปสู่ จุดแข็งและจุดที่ธนาคารเป็นผู้นำมากขึ้น”

พอล วอง ชี คิน
พอล วอง ชี คิน

ทั้งนี้ ในปี 2567 ธนาคารจะเน้นใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ASEAN Reach โดยใช้จุดแข็งเครือข่ายสาขาที่มีอยู่ ซึ่งในปีก่อนเน้นในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ในปีนี้จะโฟกัสอินโดนีเซียมากขึ้น เนื่องจากเห็นสัญญาณของปริมาณธุรกรรมการค้ามากขึ้น ธนาคารจะเน้นสนับสนุนลูกค้าทั้งขาเข้าและขาออกไปลงทุนในอาเซียน รวมถึงการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และการดูแลลูกค้ามั่งคั่ง โดยภาพรวมธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ 10%

2.ด้านลูกค้ารายย่อย ธนาคารจะโฟกัสที่สินเชื่อยานยนต์ โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ได้เปิดตัว ‘One Auto Platform’ บริการสินเชื่อยานยนต์ ครอบคลุมทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ ผ่านบริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร โดยจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับตลาด และเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจผ่านบริการใหม่ อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งแบบโอนเล่ม และไม่ต้องโอนเล่ม ซึ่งจะเริ่มทดลองตลาดภายในครึ่งหลังของปีนี้

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายรวมสินเชื่อรายย่อยเติบโตที่ 5-10% จากยอดสินเชื่อคงค้างรวม 161,000 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อบ้าน 121,000 ล้านบาท และสินเชื่อรถยนต์ 35,000 ล้านบาท

โดยกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ จะเน้นรายได้ 3-5 หมื่นบาท เนื่องจากสินเชื่อรถยนต์เป็นตลาดที่ต้องจับตามอง เพราะมีสัญญาณของหนี้เสียเพิ่มขึ้นในตลาด จึงบริหารความเสี่ยงโดยการพิจารณาในเรื่องของวงเงินต่อมูลค่าหลักประกันจากเดิมจะให้ 100% ปัจจุบันอาจจะต้องวางดาวน์ 10-15% ปัจจุบันมียอดอนุมัติสินเชื่อ (Approve Rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 40% ขณะที่สินเชื่อบ้านจะเน้นในกลุ่มราคาบ้านเกิน 3 ล้านบาท และเน้นในกลุ่มสินเชื่อรีไฟแนนซ์เป็นหลัก โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อบ้าน 2.5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมียอดอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 50-60% จากเดิมอยู่ที่ 70%

“ตอนนี้จะเห็นว่ามีความเสี่ยง ทั้งจากสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์ แต่การเติบโตทั้งสองตลาดยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ดังนั้นธนาคารยังมองว่าเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตให้กับธนาคาร”

และ 3.Digital Banking ธนาคารได้ออก Digital Lending ไปในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีมียอดสินเชื่อประมาณ 300 ล้านบาท มีจำนวนผู้ใช้ช่องทาง Digital 400 ราย เป็นผู้ใช้งานสม่ำเสมอ 50%

ด้าน 4.กลุ่มธุรกิจความมั่งคั่ง (Wealth) ยังตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำตลาด และที่หนึ่งในใจลูกค้า Wealth Management โดยเน้นการหาพันธมิตรเพิ่มเติมโดยเฉพาะในกลุ่มประกัน เพื่อให้ครอบคลุมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้ามากขึ้น สำหรับปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจและฐานสมาชิก CIMB Preferred (ลูกค้าที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุน 3 ล้านบาทขึ้นไป) ให้เติบโตอีก 12% จากปัจจุบันมีลูกค้า 1 แสนราย

สำหรับ Sustainability ธนาคารจะขับเคลื่อนบนแกน Sustainability สอดรับกับเป้าหมายกลุ่ม CIMB ที่จะบรรลุ Green, Social Sustainable Impacted Products and Services (GSSIPS) จำนวน 1 แสนล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาทในปี 2567 โดยปี 2566 ทีมสินเชื่อรายใหญ่ได้สนับสนุนสินเชื่อความยั่งยืน จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ในการทำงานบนวิถีความยั่งยืน Net Zero ปี 2567 ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 36% เทียบกับปี 2562 (Scope 1 และ 2) และเพื่อปลุกกระแสสังคมรวมพลังสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน