จับตาหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 4 หมื่นล้าน นักลงทุนถือครบ 5 ปี ลุ้นไถ่ถอนก่อนกำหนด

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์

“กรุงไทย” จับตาหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 4 หมื่นล้าน ออกโดย 5 บริษัทชื่อดัง จ่อครบ 5 ปี มีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด ชี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ปีนี้ ประเมินตลาดปีนี้ท้าทายออกใหม่ดอกเบี้ยแพง ระบุนักลงทุนคาดหวังผู้ออก “Call” ไม่เช่นนั้นอาจกระทบความน่าเชื่อถือ

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2567 นี้ จะมีหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual bond) หรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ รุ่นเดิม สามารถ
ใช้สิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (call option) เมื่อครบ 5 ปีแรก วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท จำนวน 5 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2567

ประกอบด้วย 1.บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ครบกำหนด Call วันที่ 27 มี.ค. 2567 วงเงิน 1,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 8.5% 2. บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ครบกำหนด Call วันที่ 16 ต.ค. 2567 วงเงิน 10,000 ล้านบาท 3. บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ครบกำหนด Call วันที่ 6 พ.ย. 2567 วงเงิน 15,000 ล้านบาท

4. บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ครบกำหนด Call วันที่ 20 พ.ย. 2567 วงเงิน 8,000 ล้านบาท และ 5. บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ครบกำหนด Call วันที่ 27 พ.ย. 2567 วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยทั้ง BCP, IVL, BGRIM และ TU จ่ายดอกเบี้ย 5%

“สำหรับนักลงทุน Perpetual bond ทุกคนคาดหวังว่า จะมีการ call แม้บริษัทผู้ออกมีสิทธิที่จะไม่ call ก็ได้ แต่ความคาดหวังของผู้ถือหุ้นกู้ Perpetual bond ทั่วโลก คาดหวังสิ่งเดียวกันคือ ผู้ออก ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง จะต้อง call เมื่อครบ 5 ปี ถ้าบริษัทใดไม่ call ก็อาจจะเสียความน่าเชื่อถือ และในอนาคตคงจะออก Perpetual bond มาขายอีกได้ยาก”

นายสงวนกล่าวอีกว่า การไม่ call มีบ้างในประเทศตะวันตก อย่างเช่นในยุโรป ซึ่งการไม่ call ในบางสถานการณ์ อาจพอจะเข้าใจได้ เช่น ในตลาด AT1 สกุลดอลลาร์หรือยูโร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ AT1 ของ Credit Suisse ถูก write-off เมื่อต้นปี 2566 ซึ่งถ้าการออก Perpetual bond รุ่นใหม่ ต้องจ่ายแพงกว่ารุ่นเก่ามากอย่างมีนัยสำคัญ

เช่น รุ่นเก่าบริษัทจ่ายอยู่ 5% ออกใหม่ต้องจ่าย 8% แบบนี้อาจจะพออธิบายได้ว่าการ call Perpetual bond รุ่นเก่าแล้วออก Perpetual bond รุ่นใหม่ อาจทำให้บริษัทเสียประโยชน์ จึงเลือกที่จะไม่ call หรือบริษัทอาจจะรอจนกว่าต้นทุนการออก Perpetual bond รุ่นใหม่ปรับลดลงมาเหลือ 6% หรือ 5% แล้วก็ค่อยออกใหม่ พร้อมกับ call รุ่นเก่า

อย่างไรก็ตาม การไม่ call แต่ละครั้งจะเป็นข่าวเชิงลบ และนักลงทุนอาจมองเป็นรอยด่าง และมองว่าบริษัทผู้ออกรายนั้น ๆ มี non-call risk สูง ทำให้การออก Perpetual bond มาขายในอนาคตยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทแบบเอเชีย การไม่ call แทบจะไม่มีให้เห็น เพราะถ้ามี จะเป็นเรื่องใหญ่ สำหรับบริษัทไทยเองที่ต้องประเมินผลได้ผลเสียให้ดี อีกทั้งภาวะตลาดหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศถือว่าแข็งแกร่งมาก

“ต้นทุนการออก Perpetual bond ในวันนี้ถ้าเทียบกับอดีต ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังโควิด ถือว่าไม่น่าจะต่างกันมาก ดังนั้นจึงไม่เห็นเหตุผลที่บริษัทจะไม่ call ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้ออก Perpetual bond จะตัดสินใจ call เกือบ 99% ในเมืองไทยที่ผ่านมาจะมีแค่ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) รายเดียวที่ไม่ call แต่วงเงินแค่ 448 ล้านบาท ซึ่งใช้สิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 โดยจ่ายดอกเบี้ย 9.92%”

นายสงวนกล่าวว่า ในตลาดต่างประเทศ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และหลังเหตุการณ์ AT1 ของ Credit Suisse เมื่อต้นปี 2566 ทำให้ non-call risk ของ Perpetual bond และ AT1 สูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ตลาดสกุลเงินบาทในประเทศ ถือว่า non-call risk ไม่ได้สูงมาก

“ก็เป็นความท้าทายที่บริษัทผู้ออกในประเทศอาจต้องประเมินความเสี่ยงว่า ถ้าหากขาย Perpetual bond รุ่นใหม่ได้ไม่ครบตามจำนวน จะต้องมีแผนรองรับอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่า บริษัทผู้ออก Perpetual bond ในปัจจุบันของไทย มีงบดุลแข็งแกร่ง เครดิตเรตติ้งดี นักลงทุนให้ความมั่นใจ จึงเชื่อว่าจะสามารถระดมทุนผ่าน Perpetual bond รุ่นใหม่ได้โดยราบรื่น”