ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ตลาดจับตาประชุมเฟด

US dollar
(file photo) REUTERS/Mohamed Azakir

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง ตลาดจับตาประชุมเฟด รวมทั้งการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เพื่อหาสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟด รวมถึงจำนวนครั้งในการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ 

วันที่ 19 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 19 มีนาคทม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/3) ที่ระดับ 36.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 35.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ตลาดรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐที่จะประกาศในวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดการณ์ว่า เฟดยังจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างจับตาการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เพื่อหาสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดรวมถึงจำนวนครั้งในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐในสัปดาห์ก่อนหน้า

ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด นอกจากนี้นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้เพิ่มเติม ระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 35.92-36.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 16.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/3) ที่ระดับ 1.0867/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 1.0897/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร วานนี้ (18/3) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนเดือน ก.พ.2567 ระบุว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.อาจไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยใด ๆ มากนัก โดยคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือน มิ.ย.นี้ และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.83% ในปี 2567

ขณะเดียวกัน นายปราโบล เฮอร์นันเดช เดอ คอส ผู้กำหนดนโยบายของ ECB กล่าวเช่นกันว่า ECB อาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. หลังจากที่เงินเฟ้อในยูโรโซนชะลอตัวลง ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0841-1.0873 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0846/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/3) ที่ระดับ 149.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 149.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้ (19/3) ขึ้นสู่ระดับ 0 ถึง 0.1% จากระดับ -0.1% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2550

พร้อมกับประกาศยุตินโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี โดยที่ผ่านมา BOJ ได้ใช้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการซื้อและขายพันธบัตรดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานและเป็นประเทศสุดท้ายของโลก หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าค่าจ้างของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในปีนี้

อีกทั้งยังระบุว่า BOJ จะยุติการซื้อกองทุน ETF และ J-REITS ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น และจะค่อย ๆ ปรับลดการซื้อตราสารหนี้เอกชน โดยวางแผนว่าจะยุติการซื้อตราสารหนี้เอกชนภายในระยะเวลา 1 ปี

อย่างไรก็ดี BOJ จะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นในวงเงินเท่ากับในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า BOJ ได้ตัดสินใจถอนนโยบายการซื้อสินทรัพย์และการผ่อนคลายนโยบายการเงินซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด

ที่ผ่านมานั้น BOJ ลังเลที่จะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (ultra-loose monetary policy) แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานอยู่สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% มาเป็นเวลากว่า 1 ปีก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการ BOJ มองว่าการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากราคานำเข้า ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 149.05150.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ก.พ. (19/3), การประชุมนโยบายการเงินของเฟด (19-20/3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (21/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคริการและภาคการผลิตขั้นต้นเดือน มี.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล (21/3),ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ. (21/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.50/-9.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.25/-5.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ