คลัง-แบงก์รัฐ ชง ครม.ออกแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ต้น เม.ย.นี้ กระตุ้น กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย

นายพรชัย ฐีระเวช

คลัง-แบงก์รัฐ เตรียมเสนอ 5 โครงการสินเชื่อช่วยประชาชน เสนอ ครม.ต้นเดือน เม.ยนี้ กระตุ้น กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย ชี้ที่ผ่านมาแบงก์รัฐช่วยประชาชนแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท

วันที่ 22 มีนาคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังได้เตรียม 5 โครงการสินเชื่อสถาบันการเงินของรัฐ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 67 เพื่อดูแลประชาชนเพิ่มเติม ได้แก่

โครงการสินเชื่ออิกไนท์ ไทยแลนด์ (IGNITE THAILAND) ภายใต้การดูแลของธนาคารออมสิน เป็นโครงการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND อยู่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ซึ่งจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการ, สินเชื่อศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub), สินเชื่อศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)

นอกจากนี้ ยังมีการให้โครงการสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการของรัฐ เป็นช่วยประชาชาชนกลุ่มฐานรากที่ถือบัตรสวัสดิการรัฐประมาณ 13 ล้านคน โดยธนาคารออมสินได้เตรียม โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อช่วยบรรเทาลดค่าครองชีพ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะมีการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อบุคลากรภาครัฐของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) รวมถึงสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการส่งออก ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (exim bank)

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาแบงก์รัฐช่วยเหลือประชาชน โดยดำเนินการลดหรือตรึงดอกเบี้ย พร้อมทั้งจัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) ลงร้อยละ 0.15 ต่อปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีโครงการบ้าน ธอส.สุขสบาย เพื่อให้ลูกหนี้เดิมของ ธอส.สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ SMEs Refinance เพื่อลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ นอกจากนี้ แบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มลูกหนี้ SMEs รวมทั้งมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ ของแบงก์รัฐที่ผ่านมาเป็นการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรประมาณ 1 แสนล้านบาทกลุ่ม SMEs รวมค้ำประกันประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมทั้งหมดประมาณ 3 แสนล้าน ซึ่งมีบางส่วนที่มีการช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ ด้วย ประมาณ 1 แสนล้าน

“โครงการมาตรการแบงก์รัฐลดก่อน ผ่อนภาระประชาชน ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้าน ยังไม่รวมมาตรการที่กำลังจะเสนอต่อภาครัฐ”

ทั้งนี้ การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

“การลดดอกเบี้ย 0.25% จะช่วยสนับสนุนการบริโภคเพิ่มขึ้น 0.15% และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.16% แม้จะมีการมองปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อหนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้น แต่การส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่สถาบันเงินจะคิดกับลูกค้าคงไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว คงไม่ทำให้คนไปกู้เงินทันที และธนาคารก็มีการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวดอยู่แล้ว“

อย่างไรก็ดี ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจดังกล่าว นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเริ่มเห็นสัญญาณหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐที่ดูแลด้านที่อยู่อาศัย และเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 7% ส่วนสัดส่วน SM ของแบงก์รัฐทั้งหมดอยู่ที่ 5%

“ต้องมีการประมวลภาพตัวแปรทางเศรษฐกิจให้ครบ จะเป็นส่วนที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในทิศทางที่ทำให้นโยบายการเงินมีการผ่อนคลายมากขึ้น แต่ตลาดก็คาดไว้แล้วว่าปีนี้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง แต่ไม่รู้จะลดครั้งไหน ถ้าลดครั้งนี้ได้ภาคเอกชนก็จะได้เตรียมตัวและวางแผนได้ดี ทั้งด้านการลงทุนและจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น“