กรุงศรี ประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 36.00-36.75 บาท/ดอลลาร์

เงินบาท-ธนบัตร-แบงก์โน้ต
REUTERS/Athit Perawongmetha

กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 36.00-36.75 บาทต่อดอลลาร์ จับตาค่าเงินหยวน-ติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ PCE เดือน ก.พ.ของสหรัฐ

วันที่ 25 มีนาคม 2567 รายงานจากกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรุงศรีประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ (25-29 มี.ค.) ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.35 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.89-36.49 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนสุดรอบ 5 เดือน

ขณะที่เงินหยวนนำสกุลเงินภูมิภาคร่วงลงท้ายสัปดาห์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ โดยดอลลาร์ย่อลงเพียงช่วงสั้น ๆ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.50% ขณะที่ประธานเฟดเน้นว่าจังหวะเวลาในการลดดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับความมั่นใจเกี่ยวกับแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะกลับเข้าใกล้เป้าหมาย โดยดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาวอาจอยู่ที่ 2.6%

นอกจากนี้ เฟดปรับเพิ่มประมาณการดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานปีนี้เป็น 2.6% จาก 2.4% และคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะเติบโต 2.1% เทียบกับ 1.4% ที่เคยคาดไว้ อีกทั้งเฟดใกล้จะตัดสินใจเรื่องการชะลอการลดงบดุล (Quantitative Tightening) ทั้งนี้ เฟดลดขนาดงบดุลมาแล้ว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อดูดซับสภาพคล่องจากระบบ

ด้านเงินเยนดิ่งลงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขึ้นดอกเบี้ยตามทิศทางค่าจ้างที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดตีความว่าอาจเป็นการปรับขึ้นเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 37,762 ล้านบาท และ 15,497 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ชี้ว่ายังต้องติดตามค่าเงินหยวน ขณะที่ตลาดจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ PCE เดือน ก.พ.ของสหรัฐ ขณะที่ผลเชิงลบต่อเงินดอลลาร์จาก Dot Plot ที่บ่งชี้ว่าเฟดอาจจะลดดอกเบี้ยลงรวม 75bp (0.75%) ในปีนี้เช่นเดิม และการที่ประธานเฟดระบุว่าแม้การคุมเงินเฟ้อเผชิญอุปสรรค แต่ในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น ถูกบดบังด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินในภูมิภาคอื่น

โดยสวิตเซอร์แลนด์ลดดอกเบี้ย 25bp สู่ 1.50% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 9 ปี และเป็นธนาคารกลางสำคัญแห่งแรกที่ปรับลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) คงนโยบาย แต่ส่งสัญญาณพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยที่ชัดเจนมากขึ้น

แม้การกลับทิศของบีโอเจเพียงปัจจัยเดียวไม่พอที่จะหนุนค่าเงินเยน แต่กรุงศรีมองว่าการปรับนโยบายรอบล่าสุดมีนัยสำคัญ และจะจำกัดการอ่อนค่าของเงินเยนจากระดับปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่ออัตราผลตอบแทนทั่วโลกเริ่มลดลง นอกจากนี้ กรุงศรีประเมินว่าค่าเงินเยนอยู่ใกล้ระดับการเข้าแทรกแซง ขณะที่การปล่อยให้เงินเยนอ่อนค่าลงต่อมีแต่จะลดคะแนนความนิยมของรัฐบาล เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น