เงินฝากสกุลต่างประเทศสุดฮอต! แบงก์ไหนให้ดอกเบี้ยแจ่ม เช็กเลย

เงินฝาก ดอกเบี้ย

แบงก์พาณิชย์พาเหรดออกเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศคึกคัก เผยให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป แต่อาจไม่เหมาะกับทุกคน

วันที่ 26 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง มีการเปิดตัวบัญชีเงินฝากที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศกันอย่างคึกคักต่อเนื่อง โดยให้อัตราดอกเบี้ยที่ถือว่าจูงใจ ส่วนแบงก์ไหนจะให้ดอกเบี้ยดีสุด ลองมาดูกัน

กรุงไทย รับฝาก “เงินยูโร-เงินปอนด์”

ธนาคารกรุงไทย เพิ่มทางเลือกให้ผู้ฝากเงิน โดยเปิดตัวบริการบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ประเภทเงินฝากประจำระยะเวลา 3 เดือน ประกอบด้วย เงินฝากประจำสกุลเงินยูโร (EUR) รับอัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี และเงินฝากประจำสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) รับอัตราดอกเบี้ย 4.60% ต่อปี ทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้ ลูกค้าบุคคลจะได้รับเอกสิทธิ์เพิ่ม 2 ต่อ

ต่อที่ 1 ยกระดับสถานะสมาชิกพิเศษ (Fast Track) ของ Krungthai Iconic และ Krungthai Precious+ เมื่อฝากเงินตามเงื่อนไข ดังนี้

-รับสถานะสมาชิก Krungthai Iconic และรับสิทธิสมัครบัตรเครดิต KTC-Krungthai Iconic เมื่อมียอดเงินฝากสะสม สกุลเงินยูโรตั้งแต่ 26,000 ยูโรขึ้นไป หรือยอดเงินฝากสะสมสกุลเงินปอนด์ ตั้งแต่ 22,000 ปอนด์ ขึ้นไป

-รับสถานะสมาชิก Krungthai Precious+ และรับสิทธิสมัครบัตรเครดิต KTC-Krungthai Precious+ เมื่อมียอดเงินฝากสะสมสกุลยูโร ตั้งแต่ 130,000 ยูโรขึ้นไป หรือมียอดเงินฝากสะสมสกุลเงินปอนด์ ตั้งแต่ 110,000 ปอนด์ ขึ้นไป

ต่อที่ 2 ต่อยอดความมั่งคั่ง ด้วยผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย เมื่อบัญชีเงินฝากประจำ EUR 3.25% ต่อปี หรือ GBP 4.60% ต่อปี ครบกำหนด 3 เดือน ทั้งการออมและการลงทุนครบวงจร อาทิ การลงทุนในหุ้นต่างประเทศระดับโลกผ่านตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR หรือ DRx) การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์กรุงไทย (Structured Notes) สกุลเงินบาทและสกุลดอลลาร์สหรัฐ แบบคุ้มครองเงินต้นเต็มจำนวนและบางส่วน

เลือกลงทุนในทองคำออนไลน์ด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ผ่านบริการ Gold Wallet ในแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง ลงทุนในกองทุนรวม Krungthai World Class Series และกองทุนเด่นจาก 7 บลจ. ชั้นนำกว่า 200 กองทุนทั่วโลกผ่าน NEXT Invest บนแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT

ไทยพาณิชย์ รับฝาก “USD” อัดดอกสูง 5.10%

ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกแคมเปญเงินฝาก “บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) สกุลเงิน USD” จะเลือกฝาก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็รับดอกเบี้ยสูง ตั้งแต่วันนี้-31 มีนาคม 2567

  • เงินฝากประจำประเภท 3 เดือน ดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี
  • เงินฝากประจำประเภท 6 เดือน ดอกเบี้ย 5.10% ต่อปี

ทั้งนี้ เงื่อนไขในการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ประเภทเงินฝากประจำ ระยะเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน

  1. สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย หรือชาวต่างชาติเท่านั้น
  2. เปิดบัญชีเงินฝากประจำสกุลเงิน USD ประเภท 3 เดือน หรือ 6 เดือน
  3. ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารประกาศกำหนดไว้สำหรับเงินฝากแต่ละประเภท และธนาคารมีสิทธิ เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวได้ ด้วยการปิดประกาศ และ/หรือ ประกาศบนเว็บไซต์ธนาคาร และ/หรือ วิธีการที่ธนาคารจะกำหนดเพิ่มเติมในกรณีที่เงินฝากประจำรายการใดครบกำหนดระยะเวลาการฝาก หากมิได้ถอนเงินฝากรายการนั้น ให้ถือว่าผู้ขอเปิดบัญชี/ผู้ขอใช้บริการได้ตกลงฝากเงินตามยอดเงินฝากดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขเดียวกับการ
  4. ฝากเดิมต่อไป ยกเว้นเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามประกาศล่าสุดของธนาคารในการคำนวณ
  5. เปิดบัญชีได้ที่สาขาของธนาคารทั่วประเทศหรือติดต่อที่ปรึกษาทางการเงินของคุณ
  6. บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ไม่ได้รับความคุ้มครองเงินต้นและดอกเบี้ยจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

กรุงศรี ชูดอกเบี้ยสูง 5.20% ถึง 31 มี.ค.นี้

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริการ “บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ สกุลเงิน USD” โดยเงินฝากประจำ 6 เดือน รับดอกเบี้ย 5.10% ต่อปี และเงินฝากประจำ 9 เดือน รับดอกเบี้ย 5.20% ต่อปี

พิเศษ สำหรับลูกค้าใหม่ รับบัตรกำนัล Starbucks มูลค่า 3,000 บาท และสถานะ KRUNGSRI EXCLUSIVE เมื่อฝากเงิน เทียบเท่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป เปิดบัญชีได้เฉพาะ 17 สาขาที่ร่วมรายการ ตั้งแต่วันนี้-31 มีนาคม 2567

ทีทีบี รับฝากทั้ง “ออมทรัพย์-ประจำ”

ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) จัดแคมเปญพิเศษสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาที่เปิดบัญชีใหม่และยังไม่เคยมีบัญชีออมทรัพย์เงินตราต่างประเทศสกุลเงิน US Dollar มาก่อน เพียงเปิดบัญชีออมทรัพย์เงินตราต่างประเทศ สกุลเงิน US Dollar กับทีทีบี จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ 10,000 USD หรือเทียบเท่า รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษสูงถึง 4.00% ต่อปี ตั้งแต่วันทำการที่ 5 นับจากวันที่เปิดบัญชีสำเร็จ ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 (โดยวันที่เปิดบัญชีสำเร็จจนถึงวันทำการที่ 4 รับอัตราดอกเบี้ยปกติตามประกาศของธนาคาร)

นอกจากนี้ ลูกค้า Wealth Banking ของธนาคาร ที่มียอดรวมผลิตภัณฑ์ตามที่ธนาคารกำหนด ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป สามารถขอเปิดบัญชีออมทรัพย์เงินตราต่างประเทศ สกุลเงิน US Dollar ได้ที่ทีทีบีทุกสาขา พร้อมได้รับยกเว้นจำนวนเงินฝากขั้นต่ำ และไม่มีค่าธรรมเนียมยอดเงินคงเหลือขั้นต่ำเฉลี่ยต่อเดือนอีกด้วย เพียงเปิดบัญชีตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิถุนายน 2567

นอกจากนี้ ทีทีบี ยังมีบริการบัญชีประเภทฝากประจำ สกุลเงิน US Dollar ประเภท 6 เดือน รับดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุดถึง 5.25% ต่อปี

LH Bank อัดดอกเบี้ยสูง 5.35% ต่อปี

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษเงินตราต่างประเทศ (FCD) สกุลเงิน US Dollar ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.35% ต่อปี

สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา ผู้ถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ต้องการรับผลตอบแทนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับบัญชีสกุลเงินบาททั่วไป และมีความสนใจวางแผนการลงทุน ผ่านบัญชีเงินฝากต่างประเทศ Foreign Currency Deposit (FCD) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงโดนใจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถวางแผนและสร้างโอกาสในการลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันของตลาดทางการเงิน สกุลเงินต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเงินฝากประจำพิเศษสกุลเงิน US Dollar สามารถเลือกฝากได้ตามระยะเวลา ฝาก 1 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี ฝาก 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.20% ต่อปี และฝาก 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 5.35% ต่อปี เปิดบัญชีครั้งแรกและฝากเพิ่มขั้นต่ำ 10,000 US Dollar ต่อครั้ง สูงสุดไม่เกิน 200,000 USD ต่อระยะเวลาการฝาก

ทั้งนี้ สามารถเปิดบัญชีได้แล้วตั้งแต่วันนี้-30 มิถุนายน 2567

รายงานแจ้งว่า ลูกค้าที่นำเงินมาฝากในบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับบัญชีเงินฝากทั่วไป แต่ต้องยอมรับว่าเงินฝากลักษณะนี้ไม่เหมาะกับทุกคน เนื่องจากจะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น นำเงินมาฝาก 1 หมื่นบาท หรือเท่ากับ 300 ดอลลาร์ เมื่อครบกำหนดได้ดอกเบี้ย 5% แต่เมื่อนำเงินไปแปลงเป็นเงินบาท อาจจะได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทได้ หากช่วงนั้นเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น เงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ หรือบัญชีเงินฝากประจำ US Dollar จะเหมาะสมกับลูกค้าที่มีธุรกรรมระหว่างประเทศ เช่น ธุรกรรมซื้อขายกับต่างประเทศ ผู้นำเข้า-ส่งออก หรือลูกค้าบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกรรมส่งค่าเล่าเรียนให้ลูกหลานในต่างประเทศ เป็นต้น