ถูกโกงหุ้น ต้องทำไง ? ภารกิจ TIA เรื่องที่นักลงทุนควรรู้

คดี STARK กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ทำให้หน่วยงานภาคกำกับตลาดทุน ต้องมีการขันนอตปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่มีความเข้มข้นขึ้น

และหนึ่งในภารกิจใหม่ของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) คือการเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยการช่วยดำเนินคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มหรือ Class Action ความน่าสนใจเรื่องนี้จะเป็นยังไง

วันนี้ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณสิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

ศูนย์ช่วยเหลือผู้ลงทุนหุ้นไทย

สมาคมกำลังอยู่ในขั้นตอนของการก่อตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุน ซึ่งลงทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย น่าจะปลายปี คือประมาณธันวาคม 2567  ศูนย์นี้ถึงจะเป็นรูปร่าง เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น บอกว่าเกิดความเสียหายในตลาดหุ้นไทยก็จริง แต่ว่าในอดีตที่ผ่านมา ปีหน้าคือปี 2568

50 ปีของตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ยังไม่เคยมีคดีว่าด้วยเรื่องของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action สำหรับผู้เสียหายที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเลย เพราะฉะนั้นอาจจะต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่ง ในการเริ่มก่อตั้งศูนย์นี้ และคาดว่าจะเป็นที่พึ่งของนักลงทุนได้

เรากำลังคุยกันอยู่ในคณะกรรมการจัดตั้งศูนย์ ความเสียหายแบบไหน ที่จะสามารถเป็นที่พึ่งของนักลงทุนที่เสียหายได้ ก็คือข้อที่ 1.เป็นกรณีที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว แบบนี้ความผิดชัดเจน

2.ว่าด้วยเรื่องของการฉ้อฉลหรือการทุจริตของผู้บริหารที่ทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบกับราคาของหุ้นสามัญ

ก็อยากเรียนต่อแบบนี้ด้วยก็แล้วกัน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยหรือ TIA มีอายุครบรอบ 35 ปี และก็ดูแลผู้ลงทุนในเชิงนโยบาย ผ่านเรื่องการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หรือปีหนึ่งที่เขาเจอกันครั้งหนึ่ง สำหรับผู้บริหาร กรรมการ และผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของบริษัทหรือเจ้าของกิจการ เราจะช่วยดูแล

แต่ว่ากรณีที่จะต้องมีการตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุน โดยเฉพาะในกรณีฟ้องกลุ่ม เพิ่งจะเริ่มต้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอิงหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน คือจะเดินไปในแนวทิศทางเดียวกัน

เหตุผลฟ้องคดีแบบกลุ่ม

ปกติแล้วการดำเนินคดีคือมีโจทก์หนึ่งคน มีผู้เสียหายอีกหนึ่งคน คือมีโจทก์และจำเลยพูดง่าย ๆ

1 ต่อ 1 ในการทำคดีฟ้องร้องซึ่งกันและกัน และถ้าเกิดเป็นคดีแบบ Class Action หรือฟ้องกลุ่มเป็นแบบไหน คือมีผู้เสียหายหลายคนในเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นสมมุติมีผู้เสียหาย 1,000 คน ถ้าจะฟ้องคือมี 1,000 คดี เพื่อให้ไม่มีความรกโรงรกศาล กฎหมายจึงอนุญาตให้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ให้ไปรวมตัวกัน แล้วให้แต่งตั้งตัวแทนโจทก์ขึ้นมาในจำนวนที่เหมาะสม

เพราะมันต้องไปเกี่ยวโยงกับค่าธรรมเนียมศาลด้วย ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียม 2% ของมูลค่าความเสียหาย เพราะฉะนั้นเขาก็เลยรวมว่ามันอาจจะกลายเป็น 5 คน หรือ 10 คน ก็สุดแท้แต่ ที่ผู้เสียหายจะรวมตัวกัน และก็แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนโจทก์ผู้เสียหาย

เมื่อมีตัวแทนโจทก์ผู้เสียหายแล้ว ก็ไปฟ้องฝั่งจำเลย ฝั่งจำเลยอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ก็สุดแท้แต่ เมื่อฟ้องแล้วคดีถึงสิ้นสุด ถ้าชนะคดี และศาลอนุญาตให้เป็นคดีแบบกลุ่ม จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้งกลุ่มคือทั้ง 1,000 คน เห็นไหมค่ะ กลายเป็นรวมเป็น 1 คดี ที่เขาเรียกว่าฟ้องคดีแบบกลุ่มคือ ยกชั้น ทั้งคลาสเรียกว่า Class Action คือหน้าตานี้ ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ แบบนี้เลย

ทำไมเพิ่งตั้งศูนย์ กฎหมายอนุญาตมาเกือบ 10 ปี

กฎหมายเพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558 ก็ประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ว่ายังไม่เคยเกิดคดีแบบฟ้องกลุ่ม หรือ Class Action ในตลาดหุ้นไทยเลย จากผลงานวิจัยของคณะนิติจุฬาฯ มีข้อที่เป็นอุปสรรคอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.ทนายความยังอาจจะมีความรู้เรื่องของตลาดทุน ยังมีจำนวนน้อยอยู่ เมื่อชงคดีแล้วทำให้คดีอ่อนเกินไป มันไม่สามารถที่จะเป็นคดีกลุ่มได้ เมื่อไม่รู้เรื่องตลาดทุนหรือตลาดหุ้นมากนัก

2.คือเรื่องของการรวมตัวกันของผู้ถือหุ้นของผู้เสียหาย ยังรวมตัวกันไม่ได้ เพราะเราสังเกตว่าคนที่เสียหายแล้วมักจะหลบไปอยู่มุมมืด และเศร้าสร้อยอยู่เพียงลำพัง และคิดว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ไม่ลุกขึ้นมารักษาสิทธิของตัวเอง

อันนี้เป็นงานวิจัยนิติฯจุฬาฯ ซึ่งทำเรื่องนี้มาเสร็จแล้วเมื่อปี 2563-2564 ที่ผ่านมา สมาคมจึงหยิบเรื่องนี้มาทำเป็น Action Plan ด้วยการที่สมาคมไปทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการที่จะเปิดหลักสูตรให้กับทนายความ ให้มีความรู้เรื่องของตลาดทุน

และได้ทนายที่ผ่านหลักสูตรนี้ขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคม 81 คน ถือว่าเป็นการพัฒนาและยกระดับทนายความวิชาชีพได้เช่นกัน

และเตรียมการในเรื่องนี้ไว้ และศูนย์นี้เมื่อตั้งสำเร็จแล้วก็จะเป็นศูนย์รวมในการช่วยอำนวยความสะดวกให้การรวมตัวกันของผู้ถือหุ้นรายย่อย

ช่วยเหลือเฉพาะผู้ลงทุนหุ้นสามัญ

กรณีถ้าเกิดความเสียหายในอนาคตหลังจากที่มีการตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องบอกว่าสมาคมจะดูแลผู้เสียหายในหุ้นประเภทหุ้นสามัญ (เท่านั้น)

เพราะในทางกฎหมายเอง หรือในการปฏิบัติงานแล้ว ผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้ คนที่ดูแลผู้ลงทุนหุ้นกู้คือ ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ อันนี้ตามกฎหมายและตามแนวปฏิบัติ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็แบ่งกลุ่มนี้ไปดูแลผู้ถือหุ้นกู้

ช่วยเหลือจนถึงวันที่ศาลอนุมัติฟ้อง

ในเบื้องต้นที่คุยกัน คือน่าจะถึงวันที่ศาลอนุมัติให้เป็นคดีฟ้องแบบกลุ่ม คดีฟ้องแบบกลุ่มจะใช้ 2 ศาลคือ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ สิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์เลยนะคะ

ส่วนหลังจากนั้นแล้ว ต้องมีบังคับคดีเข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ อันนี้เป็นขั้นตอนที่เรากำลังพิจารณาอยู่ค่ะ

ข้อความทางกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องฟ้องศาลภายในระยะเวลา 1 ปี เมื่อทราบวันเสียหาย เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่า ณ จุดไหนเป็นจุดตัดของวันที่นับหนึ่ง จนกระทั่งถึง 1 ปี นักลงทุนจะต้องระมัดระวังเรื่องนี้ ภายใน 12 เดือน ต้องทำการฟ้อง ไม่นั้นคดีอาจจะหมดอายุความได้

ถอดบทเรียนคดีดัง

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีของตลาดทุนไทย เรามักจะพบกรณีที่มันเกิดวัฏจักรความเสียหายอยู่ อาจจะทุก ๆ รอบมากกว่า 10 ปี ทั้งหมดทั้งมวลแม้ว่าจะมีการฉ้อฉล ทุจริต ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการสร้างราคา หรือการปั่นหุ้นก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นวัฏจักรไม่แตกต่างจากของเดิม อาจจะเปลี่ยนรูปแบบเท่านั้นเองตามเทคโนโลยี ตามกาลเวลา ตามพัฒนาการของตลาดทุน

อยากเตือนท่านนักลงทุน มันเป็นการต่อสู้กันระหว่างความโลภ และความเสี่ยง

และปัจจัยพื้นฐานของหุ้นก็ยังคงเป็น เรื่องที่ต้องให้ความรู้และตระหนักรู้ของทุกคนด้วยเช่นกัน

เรียกว่าเป็นการถอดบทเรียนครั้งสำคัญของตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน เพราะอย่างที่รู้กัน กรณีที่เกิดขึ้นในกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนตื่นรู้ว่าถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นพวกเขาจะทำยังไงได้บ้าง

เพราะฉะนั้น 1.ต้องรักษาสิทธิของตัวเอง ที่สำนักงาน ก.ล.ต.มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์อยู่ ณ ตอนนี้ หรือใช้เบอร์ฮอตไลน์ 1207 อย่างน้อยไปร้องทุกข์ที่ ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนไว้ก่อน หลังจากนั้น ก.ล.ต.อาจจะต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเล่าประเด็นสู่กันฟังว่าจะช่วยกันในภาคส่วนไหนได้บ้าง

ตอนนี้ดิฉันคิดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน หรือทุกหน่วยงานก็ว่าได้ตระหนักเรื่องนี้ และมีการขันนอตอยู่หลายเรื่อง ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ถึงเวลาในการกิโยตินหลายเรื่อง เกณฑ์ต่าง ๆ ต้องปรับตามสมัย

ณ วันนี้นักลงทุนพออุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ก.ล.ต.ก็ประกาศนโยบายในการเรียกความเชื่อมั่นและเรียกศรัทธากลับคืนมาให้นักลงทุน จากนี้ไปนอกเหนือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว นักลงทุนเองก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งสำคัญที่จะดูแลตัวเองด้วย