ชง ครม.ถกงบประมาณปี’68 คำขอพุ่ง 6.4 ล้านล้าน-ลุ้นปรับรายจ่าย

Budget

สำนักงบฯเผยคำขอรับจัดสรรงบประมาณปี’68 พุ่ง 6.4 ล้านล้าน เกลี่ยเหลือ 3.6 ล้านล้านบาท ชง ครม. 9 เม.ย.นี้ ชี้มีโอกาสปรับกรอบวงเงินรายจ่ายเพิ่มเติมได้อีก หลัง ครม.เห็นชอบเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณอีก 1.57 แสนล้าน รองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่งบฯปี’67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทใกล้บังคับใช้ วางเป้าเบิกจ่ายต้อง 100%

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เม.ย.นี้ สำนักงบประมาณจะเสนอรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 3.6 ล้านล้านบาท ที่มีการพิจารณาจากคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ที่หน่วยรับงบประมาณได้จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณเข้ามาปีนี้มากถึง 6.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีคำขอเข้ามากว่า 5.8 ล้านล้านบาท

เฉลิมพล เพ็ญสูตร
เฉลิมพล เพ็ญสูตร

ส่วนกรณีที่ประชุม ครม.สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง โดยปรับงบประมาณขาดดุล ในปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นอีก 157,200 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 713,000 ล้านบาท หรือขาดดุลเพิ่มเป็น 870,200 ล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ในการเสนอ ครม.พิจารณาวันที่ 9 เม.ย.นี้ ยังคงยึดตามกรอบ 3.6 ล้านล้านบาทเช่นเดิมส่วนจะปรับกรอบวงเงินรายจ่ายหรือไม่นั้น คงต้องรอ ครม.พิจารณาก่อน ซึ่งสามารถปรับปรุงได้

“ข้อสรุปเรื่องแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ต้องรอข้อสรุปจากทางกระทรวงการคลัง” นายเฉลิมพลกล่าว

ส่วนงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งล่าสุด ครม. เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ และสามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ทันที เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ประกาศใช้บังคับ

โดยจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ประกาศใช้บังคับไม่ทันวันที่ 1 ต.ค. 2566 และสำนักงบฯ โดยการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาภายในเดือน มี.ค. 2567

ทั้งนี้ ผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน ในช่วงเดือน ต.ค. 2566-กุมภาพันธ์ 2567 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 1,302,250.58 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2565 และปีงบประมาณ 2566 ที่มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 1,317,579.58 ล้านบาท (มากกว่า 15,329 ล้านบาท) และจำนวน 1,443,701.73 ล้านบาท (มากกว่า 141,451.15 ล้านบาท) ตามลำดับ

สำหรับมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ มีการกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ที่ 100% ทั้งรายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุน และในภาพรวม

โดยเมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แล้ว สำนักงบฯจะแจ้งแนวทางการจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 และการอนุมัติเงินจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณถือปฏิบัติต่อไป

ซึ่งหน่วยรับงบประมาณจะต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.งบประมาณรายจ่ายที่ต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้หน่วยรับงบประมาณเร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร

2.รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง ราคากลาง และรายละเอียดประกอบที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงบฯพิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเมื่อได้ผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หากไม่เกินวงเงินที่สำนักงบฯให้ความเห็นชอบ ให้แจ้งสำนักงบฯทราบและดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันต่อไปได้

และ 3.ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือน ก.ย. 2567 โดยเฉพาะรายการปีเดียวสำหรับรายการผูกพันใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2567

ทั้งนี้ หากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณ 2567 ให้หน่วยรับงบประมาณแจ้งสำนักงบฯ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเป็นรายกรณีในโอกาสแรก เพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ

“คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะต่ำกว่าปีก่อนไม่มาก คือ ตั้งเป้าไว้ 100% ส่วนใหญ่ก็จะเบิกได้กว่า 90% แล้วรายจ่ายประจำก็มีการใช้งบฯไปพลางก่อน ก็เบิกจ่ายได้ปกติอยู่แล้ว ส่วนรายจ่ายลงทุน ปีนี้เราก็ให้ตั้ง 15% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด จากปกติที่ต้องตั้ง 20% ดังนั้น ก็น่าจะเบิกจ่ายได้ 100% ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณเขาก็ต้องตื่นตัว เพื่อไม่ให้งบประมาณถูกพับไป” นายเฉลิมพลกล่าว