สคฝ.เปิดสถิติเงินฝากปี’66 ชี้ ลดลง 8.04 หมื่นบาท หลังรายย่อย-รายใหญ่หดตัว

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เปิดรายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นปี’66 มีจำนวน 16.09 ล้านล้านบาท ลดลง 8.04 หมื่นล้านบาท เหตุ เงินฝากรายย่อยต่ำกว่า 1 ล้านบาท-เงินฝากรายใหญ่เกิน 25 ล้านบาท หดตัวลง ส่วนจำนวนผู้ที่ได้รับความคุ้มครองครอบคลุม 94.75 ล้านราย เร่งเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 และเร่งสื่อสารผู้ฝากกลุ่ม Virtual Bank ที่กำลังจะเกิดขึ้น

วันที่ 5 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ Deposit Protection Agency (DPA) รายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นปี 2566 พบว่า มีจำนวนผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 94.75 ล้านราย เพิ่มขึ้นจำนวน 4.33 ล้านรายหรือคิดเป็นการเติบโต 4.79% (YOY) โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองลดลงจากปี 2565 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 16.09 ล้านล้านบาท ลดลง 8.04 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลงที่ -0.5% (YOY)

และหากพิจารณาเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองในระดับเงินฝากต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2565 พบว่าเงินฝากหดตัว หรือเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวเกือบทุกระดับวงเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากรายย่อยในระดับเงินฝากน้อยกว่า 1 ล้านบาท หดตัว 1.66% โดยหดตัวต่อเนื่องจากปี 2565 เช่นเดียวกับการหดตัวในเงินฝากของผู้ฝากรายใหญ่ที่เงินฝากอยู่ในระดับมากกว่า 25 ล้านบาท ที่มีสัดส่วนสูงและเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเงินฝาก ทำให้ภาพรวมการเติบโตของเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองในปี 2566 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565

ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด 1 ล้านบาท สามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98.11% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ ขณะที่กองทุนคุ้มครองเงินฝากมีเงินกองทุนสะสมอยู่ที่ 141,888.53 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ก.พ. 2567)

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สคฝ.จะมีการพัฒนาสัญลักษณ์การคุ้มครองเงินฝากเพื่อสื่อสารบนช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากและประชาชนมั่นใจในการใช้บริการกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ทั้งนี้ สคฝ. ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (พ.ศ.2566-2570) ในหลายมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ฝากเงิน ครอบคลุมเป้าหมายในการพัฒนาความพร้อมด้านการจ่ายเงิน การชำระบัญชีและการบริหารสินทรัพย์

เพื่อให้ผู้ฝากได้รับการคุ้มครองดูแลและได้รับเงินคืนถูกต้อง ครบถ้วน ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝาก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดีให้กับประชาชน

ผู้ฝากและประชาชนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝากได้ที่ เว็บไซต์ www.dpa.or.th หรือช่องทางโซเชียลมีเดียได้ทาง Facebook, YouTube, Twitter, Line, LinkedIn เพียงกดค้นหา dpathailand หรือโทร.สอบถามได้ที่ DPA Contact Center 1158