“เอสเอ็มอี” อ่วม ! ยอดปฏิเสธกู้พุ่ง แบงก์ขยับขึ้นดอกเบี้ย กลุ่มธุรกิจเสี่ยง

ธปท.เปิดข้อมูลสินเชื่อสถาบันการเงินทั้งระบบ แบงก์เข้มงวดปล่อยกู้เอสเอ็มอีมากขึ้น ฉุดอัตราการอนุมัติสินเชื่อลดลง ใช้กลยุทธ์ขยับขึ้นดอกเบี้ยกู้กลุ่มธุรกิจเสี่ยง ขณะที่ “เอ็นพีแอล” ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.92% หนี้เสียเพิ่ม 1.4 หมื่นล้านบาท ศูนย์วิจัยทีเอ็มบีชี้กลุ่ม “เทรดดิ้ง-เกษตร” น่าห่วงแข่งขันยาก

แบงก์อนุมัติกู้ SMEs ลดลง

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรายงานแบบสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ จากผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลสินเชื่อ

จากสถาบันการเงิน 28 แห่ง และน็อนแบงก์อีก 26 แห่ง ครอบคลุม 98.2% ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2560 โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ต้องการสินเชื่อไปใช้เป็นเงินหมุนเวียน ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

หากดูตัวเลขไส้ในการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารทั้งระบบพบว่า อัตราการอนุมัติสินเชื่อ (approval ratio) ที่ให้กับภาคธุรกิจโดยรวมปรับลดลงจาก 14.8%

ในไตรมาสก่อนหน้า มาเหลือ 6.0% และพบว่าอัตราการอนุมัติสินเชื่อให้เอสเอ็มอีปรับลดลงต่อเนื่องจาก 2.1% มาเหลือ 0.8% ขณะที่การอนุมัติสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ปรับลดลงเช่นกันจาก 16.4% ในไตรมาสก่อนมาเหลือ 7.2%

นอกจากนี้การอนุมัติวงเงินสินเชื่อก็ลดลงด้วย โดยสินเชื่อระยะสั้นลดลงจาก 5.3% มาอยู่ที่ 3.0% การอนุมัติสินเชื่อระยะยาวปรับลดลงจาก 3.0% มาติดลบ -3.1% ซึ่งลดลงในทุกหมวดสินเชื่อ สะท้อนว่า สถาบันการเงินทั้งระบบลดการปล่อยสินเชื่อที่ให้กับภาคธุรกิจลง หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ขยับขึ้นดอกเบี้ยธุรกิจเสี่ยง

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น จากการกำหนดมาตรฐานการให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เข้มงวดขึ้น จากปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและภาวะอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยหลัก ทำให้สถาบันการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นสำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง

ขณะที่ไตรมาส 2 สถาบันการเงินคาดว่า ความต้องการสินเชื่อธุรกิจมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินยังเพิ่มความเข้มงวดการพิจารณาสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี เนื่องจากความกังวลในคุณภาพสินเชื่อที่อาจเพิ่มขึ้นตามความไม่แน่นอนในประเทศ

ขณะที่ไตรมาส 1/2561 เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 2.92% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.91% มูลค่าเอ็นพีแอลคงค้าง สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4.29 แสนล้านบาท

“เทรดดิ้ง-เกษตร” เสี่ยงสูง

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ภาพรวมของแบงก์ทั้งระบบยังคงระวังการปล่อยสินเชื่อธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในธุรกิจเทรดดิ้ง ที่ปัจจุบันเจอความเสี่ยงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และหันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทำให้การซื้อขายสินค้าไม่ต้องผ่านคนกลางธุรกิจเทรดดิ้งจึงมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งยอดขายที่ลดลง และอำนาจในการต่อรองราคาที่ลดลงด้วย ทำให้แบงก์ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง

“ปัจจุบันแบงก์จัดกลุ่มสินเชื่อเป็นสองกลุ่มคือ ธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปที่มีรายได้เกิน 400-1,000 ล้านบาท กลุ่มนี้จะพิจารณาจากคุณภาพธุรกิจเฉพาะราย ๆ ไป ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่ถึง 100 ล้านบาท แบงก์ส่วนใหญ่จะให้ระมัดระวังแบบเหมากลุ่ม คือกลุ่มไหนเสี่ยงก็อาจลดการปล่อยกู้ทั้งเซ็กเตอร์ ซึ่งตอนนี้แบงก์ก็จะระวังมากในกลุ่มเกษตร เพราะราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนสูง” นายนริศกล่าว

สินเชื่อรายใหญ่ช่วยหนุน

นายนริศกล่าวว่าสินเชื่อทั้งระบบปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ 5% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างที่ 13.1 ล้านล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เป็นสำคัญ ที่ปีนี้คาดเติบโต 3.5% จากปีก่อนที่เติบโตเพียง 0.2% ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีคาดว่าจะเติบโต 5.0% และรายย่อยเติบโตที่ 6.3%

สำหรับเอ็นพีแอลไตรมาสแรกอยู่ที่ 2.92% ไม่ได้เร่งตัวขึ้นแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับแบงก์ได้ตัดขายหนี้เสียและไรท์ออฟ ทำให้คาดว่าสิ้นปี”61 เอ็นพีแอลทั้งระบบจะลดลงอยู่ที่ 2.84% และหากเจาะเฉพาะธุรกิจรายใหญ่คาดเอ็นพีแอลปีนี้อยู่ที่ 1.64% จากสิ้นไตรมาสแรก 1.55% ขณะที่เอสเอ็มอีทั้งปีอยู่ที่ 4.03% จากไตรมาสแรก 4.17%

ด้านนายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไปเชื่อว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งเอสเอ็มอีรายใหญ่ รายกลางและรายเล็ก ส่วนใหญ่แรงหนุนยังคงมาจากการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก ทำให้คาดสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอีปีนี้คาดเติบโตได้ตามเป้าที่ 4-6%

“การคิดดอกเบี้ยเพิ่มสำหรับกลุ่มเสี่ยงข้อเท็จจริงควรเป็นอย่างนั้น กลุ่มไหนเสี่ยงแบงก์ก็ต้องเก็บค่าความเสี่ยงเพิ่ม แต่กสิกรไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะจะยิ่งซ้ำเติมลูกค้าไปอีก ขณะเดียวกันธนาคารก็มีการคิดค่าความเสี่ยงรวมไปดอกเบี้ยเงินกู้แล้วเช่นวันนี้ ธนาคารคิดดอกเบี้ยเอสเอ็มอีอยู่ที่ MRR+2-3% หรือราว 8-10%”

ขณะที่นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารในไตรมาสแรกเติบโตถึง 12% โดยปัจจุบันมีพอร์ตคงค้างรวมอยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อที่เติบโตมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และเกษตรแปรรูป ที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นแรงหนุนให้ปริมาณธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น