จุลพันธ์ เผยคนใช้ Easy e-Receipt ร่วมโครงการแจกเงิน 1 หมื่นได้

จุลพันธ์ รมช.คลัง เผย คนใช้ Easy e-Receipt ไปแล้วยังสามารถเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ได้ ชี้หากรายได้เกิน 840,000 บาทต่อปี อดร่วมโครงการ

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัจฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า สำหรับประชาชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ Easy e-Receipt ไปแล้ว สามารถเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเลตได้ เพราะเป็นคนละโครงการกัน โดย Easy e-Receipt เป็นโครงการที่กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงต้นปีระยะสั้นเท่านั้น และปิดไปแล้วไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท โดยกลุ่มเป้าหมายมีดังนี้

    • ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน
    • เป็นคนไทยอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
    • ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี จากเดิมที่กำหนดให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาท ต่อเดือน เพื่อสะดวกในสอดคล้องกับกระบวนการของสรรพากร
    • ไม่มีมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่าย

    • กลุ่มแรก ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
    • กลุ่มที่สอง ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอ และขนาดของร้านค้าการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ

ส่วนการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ ดังนี้

    • รอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ในระยะเวลา 6 เดือน เบื้องต้นกำหนดให้เป็นร้านค้าในกลุ่มร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กลงมา
    • ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า และพื้นที่ โดยจะยังเบิกเงินไม่ได้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ

สำหรับประเภทสินค้า 

สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการได้ ยกเว้น

    • สินค้าอบายมุข
    • น้ำมัน
    • บริการ
    • สินค้าออนไลน์
    • สินค้าที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามในส่วนของช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยคุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้

    • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT)
    • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax : PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
    • ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax : CIT)

โดยร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป