แบงก์ไม่หุบร่มปล่อยกู้ SME ประคองลูกค้า-คุมคุณภาพสินเชื่อ

Siridet

ธุรกิจเอสเอ็มอีเจอผลกระทบอย่างหนักมาตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงขณะนี้บางเซ็กเตอร์ก็เริ่มทยอยฟื้นตัว แต่บางเซ็กเตอร์ก็ยังลำบาก รายได้ยังไม่กลับมา ยิ่งตอนนี้ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่มะรุมมะตุ้ม ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญ ๆ ในโลก

รวมจนถึงปัญหาของเศรษฐกิจจีน ที่กำลังซื้อภายในประเทศมีปัญหา มีกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก ทำให้ต้องเร่งส่งออกสินค้าออกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย ทำให้ยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ที่ถูกสินค้ามาตีตลาด

ขณะที่สถานการณ์ด้านหนี้เสียของธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังคงน่าเป็นห่วง แถมการผิดนัดชำระหนี้ก็ยังสามารถปะทุขึ้นได้ตลอด ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี นอกจากนี้ หลายธุรกิจยังไม่กล้าลงทุนใหม่ เพราะยังไม่เห็นปัจจัยที่จะคลี่คลาย สะท้อนว่า ภาพของธุรกิจเอสเอ็มอียังน่ากังวล

ระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ SMEs

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ ทุกธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจะเน้นประคองลูกค้ามากกว่าจะเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อการเติบโต ทำให้ปีนี้จะยังเห็นการเติบโตที่ติดลบหรือทรงตัวอยู่ สะท้อนตามทิศทางเศรษฐกิจ โดยในส่วนลูกค้ารายใหม่นั้น ธนาคารก็ไม่ได้ชะลอหรือหยุดปล่อย แต่จะเน้นกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โฟกัสกลุ่มที่มีศักยภาพ และธุรกิจสามารถไปต่อได้ เช่น กลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี หากเป็นกลุ่มเสี่ยงและอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ อาจจะพิจารณาสินเชื่อเข้มงวดขึ้น เนื่องจากหากปล่อยสินเชื่อไปแล้วอาจกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในภายหลัง

ขณะที่การให้วงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) ที่ใช้เป็นวงเงินหมุนเวียนในธุรกิจนั้น ธนาคารจะพิจารณาตามธุรกิจ และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย ยืนยันว่าไม่ได้มีการตัดวงเงิน O/D ของลูกค้า อย่างไรก็ตาม กรณีที่สถาบันการเงิน
จะตัดวงเงิน O/D ของลูกค้านั้น จะเป็นกรณีที่ลูกค้ามียอดขายปรับลดลง หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยปกติทุกธนาคารจะพิจารณาตัดวงเงินของลูกค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น

“ภาพรวมปีนี้เอสเอ็มอียอมรับว่ายังเป็นปีที่เหนื่อย และต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวทั่วถึงทุกเซ็กเตอร์ โดยสินเชื่อทั้งระบบน่าจะเห็นติดลบอยู่ ส่วนประเด็นการ
ตัดวงเงิน O/D ของลูกค้า จะเป็นการปรับลดตามยอดขายที่ลดลง เช่น วงเงิน O/D มีอยู่ 100 บาท แต่ยอดขายลดลงมาเหลือไม่ถึง 50 บาท อันนี้แบงก์ก็ต้องปรับตามความเหมาะสม หรือกรณีสถาบันการเงินแห่งนั้นมีนโยบายต้องการ Exit จากธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งมองว่าในอนาคตมีความเสี่ยง”
คุณภาพหนี้ยังน่ากังวล

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สินเชื่อธุรกิจยังคงติดลบต่อเนื่อง และยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับมา ส่วนหนึ่งมาจากการทยอยชำระคืนหนี้ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา และสัญญาณเศรษฐกิจที่ไม่ได้ฟื้นตัว ทำให้การเบิกใช้วงเงินสินเชื่อของผู้ประกอบการไม่เต็มที่ ขณะที่ในฝั่งของสถาบันการเงินยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความเสี่ยง ส่งผลให้ภาพสินเชื่อธุรกิจ ทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีและรายใหญ่คล้ายกันไม่ได้เติบโต

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์
กาญจนา โชคไพศาลศิลป์

ทั้งนี้ ประเมินว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2567 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ แต่ในอัตราต่ำกว่า 1% ซึ่งดีกว่าปีก่อนที่หดตัว -4.7% ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และภายใต้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยคาดว่าภายในสิ้นปีจะมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 2.96 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2566 ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.94 ล้านล้านบาท

ขณะที่เอ็นพีแอลกลุ่มเอสเอ็มอียังเป็นกลุ่มที่ยังมีประเด็นเรื่องคุณภาพสินเชื่อ และเป็นกลุ่มที่ธนาคารให้ความระมัดระวังเหมือนเดิม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นสินเชื่อที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้หนี้เสียทยอยขยับสูงขึ้น โดย ณ ไตรมาส 4/2566 เอ็นพีแอลเอสเอ็มอีอยู่ที่ 7.79% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี (ไม่รวมกิจกรรมทางการเงินและประกัน) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเอ็นพีแอลของพอร์ตสินเชื่อรวมที่อยู่ 2.66%

“สินเชื่อธุรกิจติดลบมายาวนานตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องถึงปีนี้ โดยโทนจะเป็นการชำระคืน ทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี แม้ว่าในช่วง 1-2 เดือนแรก จะเห็นบางกลุ่มสะวิงกลับมาในบางวัตถุประสงค์ ทั้งการรีไฟแนนซ์ และการลงทุน แต่ไม่ได้บอกเทรนด์ทั้งปี แต่เชื่อว่าปีนี้สินเชื่อน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก แต่ยังโตต่ำกว่า 1% เพราะปีก่อนหดตัวเยอะ ส่วนคุณภาพสินเชื่อยังเป็นกลุ่มที่มีประเด็นอยู่ แต่จะเห็นธนาคารเข้าไปช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ได้ดีขึ้นตามความสามารถ”

ยันไม่หุบร่มปล่อยกู้ SMEs

นายชัยยศ ตันติพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้ แนวโน้มสินเชื่อยังคงเห็นการหดตัวติดลบ หรือขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจในหลายเซ็กเตอร์ยังไม่ได้มีการลงทุนใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง กำลังซื้อที่ลดลงตามรายได้ที่ยังไม่ฟื้น

ดังนั้นจากสัญญาณดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจชะลอการลงทุนใหม่ และใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเป็นสภาพคล่องในธุรกิจไปก่อน หรือบางรายเริ่มเข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร หากเริ่มผ่อนชำระไม่ไหว 
ซึ่งธนาคารพร้อมช่วยเหลือลูกค้าทุกราย โดยยืนยันว่าไม่มีการปรับลดวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) ของลูกค้าเด็ดขาด ในกรณีที่ลูกค้ายังต้องการสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจ และยังมีความสามารถชำระคืนหนี้ได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารจะมีการตัดวงเงิน O/D ในกรณีที่ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) จะมีการปรับวงเงินลง

กราฟฟิก สินเชื่อ

 

ทั้งนี้ ธนาคารจะยังมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เน้นการประคองตัวและคุมคุณภาพสินเชื่อ โดยเน้นปล่อยสินเชื่อในลูกค้ารายเดิม ไม่ได้ขยายสินเชื่อใหม่ ส่วนหนึ่งลูกค้ารายใหม่ หรือธุรกิจใหม่เกิดขึ้น
ค่อนข้างน้อย หากจะรีไฟแนนซ์ลูกค้ามาจากที่อื่นก็ไม่มั่นใจศักยภาพของลูกค้าที่จะเอาเข้ามาในพอร์ต อย่างไรก็ดี เซ็กเตอร์ที่ยังมีความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนหรือขยายตัวได้ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ เป็นต้น

“ภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอียังคงน่าจะติดลบอยู่ในปีนี้ ในแง่ธนาคารระมัดระวัง ไม่ได้เร่งขยายสินเชื่อใหม่ และประคองตัวไปก่อน ยืนยันไม่หุบร่ม โดยยังสนับสนุนลูกค้า ปีนี้เราจึงไม่ได้ตั้งเป้าเติบโตหรือทรงตัว ซึ่งในแง่ของสินเชื่อคงค้างคาดว่าจะขยายตัวราว 1-2% จากปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อ
คงค้างเอสเอ็มอีอยู่ที่ราว 7.19 แสนล้านบาท” นายชัยยศกล่าว

แม้ว่าแบงก์ยังคงยืนยันว่า ไม่ได้หุบร่มปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี แต่ก็ต้องยอมรับว่า คงไม่ใช่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกรายที่จะอยู่รอดได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ีรุนแรงมากขึ้น จากสถานการณ์โลกธุรกิจการค้าที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน