แบรนด์ดังแห่ระดมทุนขายหุ้น IPO 40 บริษัทจ่อคิว “ค้าปลีก-อาหาร” มาแรง

IPO

บริษัทดังเข้าคิวระดมทุนขายหุ้นไอพีโอคึกคัก “โอ้กะจู๋-ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว-สุกี้ตี๋น้อย-สยามพิวรรธน์-บิทคับ-ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส-บิ๊กซีรีเทล” ตลท.เผยไปป์ไลน์กว่า 40 บริษัทจ่อคิวเทรดปีนี้ เร่งระดมทุนหนีเกณฑ์กำไรใหม่ใช้ 1 ม.ค. 68 ลุ้นเศรษฐกิจไทยออกสตาร์ต ช่วยดึงฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลกลับ บล.กสิกรฯส่ง 4 ดีลใหญ่ “บุญถาวร-ยัสปาล-เจ้าสัวฟู้ดส์-ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล” ไอพีโอปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านับจากต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน มีการระดมทุนเสนอขายหุ้นไอพีโอ (หุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) ไปแล้ว 11 หลักทรัพย์ แยกเป็นการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาด SET จำนวน 5 หลักทรัพย์ และอีก 6 หลักทรัพย์ เข้าซื้อขายในตลาด mai คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวม 7,754 ล้านบาท มูลค่าเสนอขาย 13,862 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอ 58,756 ล้านบาท

โดย บมจ.ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นหุ้นแบงก์ที่เข้าจดทะเบียนในรอบกว่า 10 ปี มีมูลค่าหลักทรัพย์ 35,649 ล้านบาท และจะเห็นว่าราคาหุ้น IPO ปิดทำการซื้อขายวันแรกในปีนี้ หลายบริษัทดีดตัวขึ้นได้ดีเป็นส่วนใหญ่

บริษัทดังประกาศ IPO

โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีบริษัทชื่อดังในประเทศไทย ที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักประกาศเตรียมนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นหลายราย โดยจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้วคือ

บมจ.บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BOON) ธุรกิจค้าปลีกให้บริการและจำหน่ายสินค้ากระเบื้อง เครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องครัว โคมไฟและอุปกรณ์ส่องสว่าง สินค้าอื่น ๆ เกี่ยวกับบ้าน และเฟอร์นิเจอร์แบบครบวงจร ผ่านช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ของกลุ่มบริษัท ภายใต้ชื่อ “บุญถาวร” ที่จะเสนอขายหุ้นไอพีโอไม่เกิน 320 ล้านหุ้น

บมจ.ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) ธุรกิจให้บริการและจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” ที่มีบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ จะเสนอขายหุ้นไอพีโอไม่เกิน 159 ล้านหุ้น

นอกจากนี้ยังมีบริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” และบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “สุกี้ตี๋น้อย” ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มเจมาร์ท (JMART) เข้าไปลงทุนถือหุ้น 30% รวมถึงบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็ประกาศเข้าระดมทุนตลาดหุ้น

โดยนายอนุชิต สรรพอาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากประกาศทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ในปี 2566 ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การประยุกต์เทคโนโลยี การบริหารต้นทุน รวมถึงปรับโครงสร้างการบริหารงานส่งผลให้ปี 2566 มีรายได้รวม 1,117 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 126.6 ล้านบาท เติบโตกว่า 121%

และปี 2567 นี้ บริษัทมีแผนจะเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตั้งเป้ารายได้ 1,500 ล้านบาท ด้วยการขยายธุรกิจผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความชำนาญเฉพาะทาง รวมถึงการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ

โดยล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดัง “เสือร้องไห้” และแบรนด์เบเกอรี่ “บริกซ์”

จับตา 4 บริษัทยักษ์ตระกูลดัง

นอกจากนั้นยังต้องติดตาม บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เตรียมยื่นไฟลิ่งนำ บริษัทซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด (CJ Express) ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเข้าตลาดหุ้น รวมทั้ง “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ที่จะส่ง บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือห้างบิ๊กซี เข้าตลาดหุ้นรอบใหม่ หลังจากเมื่อปี 2566 ทั้งสองบริษัทได้ชะลอแผนการเข้าจดทะเบียน หลังภาวะตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศผันผวนจากภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวม รวมไปถึงบริษัท เอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) ในกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ที่ก็เลื่อนการขายหุ้นไอพีโอมาหลายรอบ

ขณะที่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีรายงานข่าวจากบลูมเบิร์กระบุว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีก เจ้าของและผู้บริหารโครงการสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ แจ้งให้ธนาคารต่างชาติรายหนึ่งส่งข้อเสนอสำหรับการขายหุ้น IPO ซึ่งระบุอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2024 นี้ ด้วยเป้าหมายการระดมทุนที่ 500-750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.8-2.7 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ตามแผนการนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาและตัดสินใจ

ตลาดหุ้นฟื้น 40 บริษัทจ่อคิวเทรด

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โดยปกติแล้วการที่มีบริษัทใหม่ ๆ สนใจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก และยิ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง มีแบรนดิ้งเป็นที่รู้จัก มีเอกลักษณ์ หรือเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและตลาดโลก จะช่วยทำให้ตลาดหุ้นมีความคึกคักขึ้นได้ แต่ทั้งนี้เป็นการมองโดยยังไม่นับรวมถึงผลของภาพเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

ตอนนี้มีบริษัทในไปป์ไลน์ที่ยื่นคำขอเสนอขายหุ้นไอพีโอกับสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วกว่า 40 บริษัท แต่เชื่อว่าจะมีบริษัทใหม่ที่ต้องการระดมทุนเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญคือ

1.ความพร้อมของข้อมูลของบริษัท 2.ความต้องการใช้เงิน และ 3.สภาวะตลาดหุ้น ซึ่งปัจจัยที่สองและสาม แต่ละบริษัทคงต้องชั่งน้ำหนักเอง เพราะหากภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ดี แต่ต้องการใช้เงิน ก็จำเป็นต้องเข้าจดทะเบียน แต่ถ้ารอได้ก็อาจจะหันไปใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคารเพิ่มไปก่อน

“ตอนนี้มีทั้งบริษัทเดิมที่ค้างมาจากปีที่แล้ว จากภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน และบริษัทใหม่ที่อยู่ในไปป์ไลน์ที่สนใจ ดังนั้นคาดว่าการเสนอขายหุ้นไอพีโอในปีนี้จะมีความคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว” นายแมนพงศ์กล่าว

นายแมนพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันหลายปัจจัยของโลกเริ่มมีความชัดเจนขึ้น ทั้งอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยกลางปีนี้ และงบประมาณปี 2567 ที่ผ่านไปแล้ว ดังนั้นคงจะทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ซึ่งช่วยเซนติเมนต์ในส่วนของภาพเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่เห็นการไหลออกไปค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา จะเริ่มมีแนวโน้มไหลกลับมาได้บ้าง ซึ่งสังเกตเห็นจากฟันด์โฟลว์ในเดือน ก.พ. 2567 นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยเป็นเดือนแรก

จับตาเร่งยื่น IPO หนีเกณฑ์กำไรใหม่

ส่วนกรณีตลาดหลักทรัพย์ฯมีการปรับปรุงเกณฑ์กำไรของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 จะมีผลกับบริษัทเข้าระดมทุนไอพีโอมากขึ้นหรือไม่นั้น

นายแมนพงศ์กล่าวว่า จริง ๆ เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในปี 2566 ที่เป็นเรื่องข้อกำหนดการยื่นไฟลิ่งให้ใช้งบการเงินตามมาตรฐานบัญชีของบริษัทมหาชน (PAE) 3 ปีย้อนหลัง ที่บังคับใช้เมื่อต้นปี 2567 ก็ทำให้มีบริษัทที่สนใจยื่นขายหุ้นไอพีโอเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ได้สูงขึ้นแบบเท่าตัว (ไม่ใช่ประเด็นหลัก) เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้จะรีบเข้ามาระดมทุน แต่ 3 ปัจจัยสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจพิจารณาทำไอพีโอของแต่ละบริษัท

“เกณฑ์ใหม่ที่เราปรับเปลี่ยนส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ New Economy มากขึ้น เช่น การลดทุนจดทะเบียนชำระแล้ว เพราะไม่ได้สะท้อนผลประกอบการหรือฐานะการเงิน เท่ากับกำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น อีกเหตุผลหนึ่งเพื่อรองรับบริษัทบางประเภท เช่น บริษัทเทคโนโลยีที่มีทุนจดทะเบียนไม่สูง ไม่ต้องการเงินทุนมากนัก แต่สามารถทำกำไร หรือมีส่วนของผู้ถือหุ้นหนาอยู่แล้วจากการไประดมทุนผ่าน VC ซีรีส์ A ซีรีส์ B เพราะฉะนั้นก็สมควรจะเข้ามาจดทะเบียนได้” นายแมนพงศ์กล่าว

ทั้งนี้สำหรับเกณฑ์ใหม่บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด SET ปีล่าสุดต้องมีกำไรไม่ต่ำกว่าเป็น 75 ล้านบาท จากเดิม 30 ล้านบาท และต้องมีกำไรรวม 2-3 ปี เป็น 125 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท พร้อมปรับเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) เป็น 800 ล้านบาท จากเดิม 300 ล้านบาท แต่จะลดทุนจดทะเบียนชำระแล้วสำหรับบริษัทเข้า SET เหลือ 100 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 300 ล้านบาท แต่บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 50-300 ล้านบาท เกณฑ์ใหม่ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) 30%

ส่วนบริษัทที่จะเข้าตลาด mai ปกติจะพิจารณากำไรปีล่าสุดเพียงปีเดียวคือ 10 ล้านบาท แต่เกณฑ์ใหม่จะปรับขึ้นเป็น 25 ล้านบาท และเพิ่มกำไรรวม 2-3 ปี อยู่ที่ 40 ล้านบาท และเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นเป็น 100 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท

กสิกรฯเปิด 4 ดีล IPO ปีนี้

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กสิกรไทย มีดีลการทำไอพีโอปีนี้ 4 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ.ยัสปาล (JPC) ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น 2.บมจ.ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล (TMAN) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

3.บมจ.เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี (CHAO) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ภายใต้แบรนด์ “เจ้าสัว” และแบรนด์ “โฮลซัม” และ 4.บมจ.บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BOON)

โดยตามแผนจะนำทั้ง 4 บริษัทเข้าจดทะเบียนภายในปีนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าบริษัทใดได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต.ก่อนกัน แต่ก็อาจจะพิจารณาตัวธุรกิจ สตอรี่หรือราคาประกอบด้วย โดยไม่ได้กังวลเรื่องภาวะตลาดมากนัก เพราะการตั้งราคาไอพีโอของที่ปรึกษาการเงิน (FA) จะตั้งตามภาวะตลาดหุ้น ถ้าไม่ดีก็ทำราคาลงมาปกติเพื่อให้ Benchmark กับตลาด

“ปีนี้การระดมทุนหุ้นไอพีโอโดยรวมทั้งตลาดดูดีกว่าปีที่แล้ว จากที่มีบริษัทค้างมาจากปีที่แล้ว และบริษัทใหม่ปีนี้มีค่อนข้างเยอะ รวมทั้งหลายบริษัทที่ไอพีโอไปแล้ว ราคาหุ้นก็ค่อนข้างเพอร์ฟอร์มได้ดีกว่าปีที่แล้ว ดังนั้นแนวโน้มคงดีขึ้นเรื่อย ๆ และความมั่นใจนักลงทุนคงทยอยกลับมา” นายพงศ์ศักดิ์กล่าว

ผลตอบแทนพุ่ง เรียกความมั่นใจ

ด้านนายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับจากต้นปี 2567 ภาพการระดมทุนหุ้นไอพีโอถือว่าสร้างผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นคงจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้คงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภาวะตลาดหุ้นไทยด้วย เพราะวันนี้ SET Index คงแกว่งอยู่ในช่วง 1,350-1,400 จุด ถ้าตลาดหุ้นไม่มีแนวโน้มที่จะลงไปมากกว่านี้ ในแง่หุ้นไอพีโอน่าจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนยังคงให้ความสนใจ

ส่วนแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในกลางปีนี้ ที่จะช่วยทำให้ต้นทุนการเงินของบริษัทจดทะเบียนปรับตัวต่ำลง หรือแม้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น ซึ่งก็คงจะมีผลต่อเซนติเมนต์บวกของหุ้นไอพีโอได้