เลขาฯกฤษฎีกายันรัฐบาลไม่ได้กู้ ธ.ก.ส. แจกดิจิทัล 10,000 ย้ำไม่มีหารือที่ประชุม

ปกรณ์ นิลประพันธ์
ปกรณ์ นิลประพันธ์

เลขาฯกฤษฎีกายันรัฐบาลไม่ได้กู้ ธ.ก.ส. แจกดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท บอกสื่อพูดกันเอง ยืนยันไม่มีหารือในที่ประชุม ยํ้าใช้มาตรา 28 ดําเนินโครงการได้ แต่ต้องกำหนดเป็นการเสนอ ครม. ปัดตอบใช้แหล่งเงินอื่นได้หรือไม่

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า ในวันประชุมคณะกรรมการนโยบาย มีการพูดถึงแหล่งเงินว่ามาจาก 3 แหล่ง คืองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 อีกส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินการตาม ม.28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่รับงบประมาณ ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ในที่ประชุม จึงไม่ทราบว่ามีการนำเรื่องกู้เงินมาจากไหน

“ในการประชุมวันนั้นไม่มีการพูดในรายละเอียดตรงนี้เลย ไม่แน่ใจว่ากระแสข่าวที่จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาจากไหน เป็นการพูดกันเองของสื่อหลังจากมีแถลงข่าว ซึ่งในที่ประชุมไม่ได้พูดเรื่องนี้ ผมยืนยันได้” เลขาฯกฤษฎีกากล่าว

นายปกรณ์ยังกล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการตาม ม.28 สามารถทำได้ แต่จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดเป็นโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนรายละเอียดเรื่องการตรวจสอบว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะต้องไปดูแลเหมือนกับทุกโครงการที่ผ่านมา

สำหรับแหล่งเงินจํานวน 170,000 ล้านบาท เป็นข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการของโครงการ คือจะดำเนินการตามมาตรา 28 เพียงแค่นั้น ซึ่งโดยหลักการทำได้ แต่ต้องทำรายละเอียดเพื่อเสนออีกครั้ง อย่างโครงการโคแสนล้านตัว ที่ต้องเขียนรายละเอียดโครงการให้ชัดเจนมาก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่ทั้งหมดสื่อพูดกันเอง

นายปกรณ์กล่าวถึงกรณีหากไม่ใช้เงินจาก ธ.ก.ส. จะใช้เงินจากช่องทางอื่นได้อีกหรือไม่ว่า ไม่ทราบว่ากระทรวงการคลังจะคิดอย่างไร เพราะเป็นผู้คิดโครงการ ส่วนรายละเอียดเรื่องการดำเนินโครงการการตรวจสอบว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะต้องไปดูแลเหมือนกับทุกโครงการที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เนื่องจากประเด็นทางสหภาพ ธ.ก.ส.ต้องการให้กฤษฎีกาชี้แนะข้อกฎหมายของ พ.ร.บ. ธ.ก.ส. จะสามารถทำได้หรือไม่ โดยในส่วนนี้จะแยกส่งให้กฤษฎีกา หรือจะส่งพร้อมกับความเห็นของ ครม.ก็ได้ เพราะขั้นตอนการหารือของกฤษฎีกาจะมี 2 แบบ

1.เข้า ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นประกอบ 2.การหารือโดยตรงกับกฤษฎีกา โดยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่ามีปัญหาประเด็นข้อกฎหมายตรงไหน ซึ่งเป็นไปตามหลักการแก้ไขปัญหา การบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น หากแก้ปัญหาภายในหน่วยงานได้ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านกฤษฎีกา แต่ถ้าส่งผ่านความเห็น ครม.ก็จะใช้ขั้นตอนสั้นลง