บาทผันผวน รอจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

ดอลลาร์

ค่าเงินบาทผันผวน รอจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

วันที่ 24 เมษายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/4) ที่ระดับ 36.88/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/4) ที่ระดับ 36.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า หลังเมื่อคืนวานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI สหรัฐ ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลง และดอลลาร์อ่อนค่าเทียบทุกสกุลเงินส่วนใหญ่

โดยที่เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 52.1 ในเดือน มี.ค. ในส่วนของความกังวลเหตุปะทะอิสราเอล-อิหร่าน ล่าสุดสถานการณ์ไม่ได้มีสัญญาณการตอบโต้กลับ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวล ส่งผลให้เกิดแรงเทขายทำกำไร ซึ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย

นอกจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. 67 ซึ่งนักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน มิ.ย. และ ก.ค. และในช่วงนี้ธนาคารกลางสหรัฐยังส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยสูงไว้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเหลือการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 1 ครั้ง ปัจจัยสำคัญที่น่าจับตาในสัปดาห์นี้คือ การเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 36.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐปรับตัวลดลงต่ำกว่าคาด โดยนักลงทุนในตลาดรอจับตางานสัมมนา Monetary Policy Forum ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.83-37.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/4) ที่ระดับ 1.0708/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/4) ที่ระดับ 1.0657/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) เพิ่มขึ้นแตะระดับ 51.4 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 50.3 ในเดือน มี.ค. และสูงกว่าคาดการณ์ของรอยเตอร์ที่ระดับ 50.7

โดยรายงานระบุว่า กิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมของยูโรโซนขยายตัวขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีในเดือน เม.ย. เนื่องจากอุตสาหกรรมภาคบริการของยูโรโซนที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งได้ช่วยลดทอนกิจกรรมในภาคการผลิตที่เผชิญภาวะขาลง ทั้งนี้ดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 ชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 ชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.9 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 51.5 ในเดือน มี.ค. ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ โดยรอยเตอร์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 51.8 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.6 ในเดือน เม.ย. จาก 46.1 ในเดือน มี.ค. ลดลงมากกว่าที่รอยเตอร์คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 46.6

โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตยูโรโซนหดตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 มาตั้งแต่กลางปี 2565 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0681-1.0714 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0687/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/4) ที่ระดับ 154.80/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/4) ที่ 154.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนยังคงทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 34 ปีที่ระดับ 154.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะใช้มาตรการในการรับมือกับตลาดปริวรรตเงินตราที่มีความผัวผวนอย่างเหมาะสม อีกทั้งนักลงทุนยังจับตาดูผลการประชุมนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้ (26 เม.ย.) โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 154.74-154.96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.52/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนจากสหรัฐประจำเดือน มี.ค. (24/04), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (25/04), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 (25/04), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน มี.ค. (25/04), และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (25/04), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) (26/04) ตัวเลขส่งออกนำเข้าของไทย (26/04)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.1/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.65/-7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ