ก.ล.ต. จ่อเฮียริ่ง ”กองทุนรวม“ ลงทุนโทเคน-คริปโตฯ พ.ค.นี้

คริปโต บิตคอยน์
Photo : Pixabay

ก.ล.ต. เตรียมเฮียริ่งเปิดทางกองทุนลงทุนโทเคน-คริปโตฯ  เดือนพ.ค.นี้ พร้อมหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและซอฟท์เพาเวอร์รับนโยบายรัฐ

วันที่ 24 เมษายน 2567 นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เตรียมเปิดเฮียริ่งเปิดโอกาสกองทุนสามารถเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ในเดือนพ.ค.นี้ โดยจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ กำหนดประเภทของกองทุน มูลค่าเงินลงทุน ความเสี่ยงของการลงทุน เป็นต้น

โดย การเปิดให้กองทุนรวมเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ Investment Token ที่ ก.ล.ต. มองว่ามีความเสี่ยงใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ ในอนาคตจะถูกย้ายไปเป็นหลักทรัพย์จึงมีความเสี่ยงที่ไม่ได้สูงมากนัก ขณะที่ Cryptocurrency ที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง และมีความผันผวนด้านราคาสูง เมื่อเทียบกับ Investment Token

ดังนั้นการพิจารณาการที่จะให้กองทุนเข้าไปลงทุนได้ ต้องดูทั้งผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องดูว่านักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้มากเพียงใด เช่น กองทุนสำหรับรายย่อย ต้องดูด้านความเสี่ยงว่า หากกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงหรือต่ำจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้นต้องมีการจำกัดสัดส่วน Cryptocurrency ที่เท่าใด

อีกทั้งต้องมีกฎเกณฑ์ด้านการโฆษณาที่โปร่งใส ชัดเจนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าไปลงทุน ขณะที่หากเป็นกองทุนเพื่อนักลงทุนสถาบันอาจจะพร้อมรับความเสี่ยงการลงทุนใน Cryptocurrency ได้มากกว่ารายย่อย

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีการสนับสนุนเทคโนโลยี โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์เสนอขาย Investment Token เพื่อสนับสนุนให้สามารถระดมทุนธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจิทัลของภาครัฐ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Soft power ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจกิจการทำเพลงนำมาขายในตลาด และมีการออก  Token ของเพลงให้นักลงทุนซื้อได้ หากเพลงสามารถสร้างรายได้จากการนำเสนอขายผ่านช่องทางต่างๆ เจ้าของเพลงจะได้ส่วนแบ่ง และจะนำไปกระจายรายได้ให้กับผู้ถือ Token

“ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีการออกเสนอขาย Token ที่อ้างอิงกับ Soft power เพื่อการระดมทุนธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจิทัลของภาครัฐ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น วงการภาพยนตร์ ค่ายมวย เพลง อื่นๆ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะมีการเฮีนริ่ง ในช่วง พ.ค. 67”

ส่วน กรณีที่ ก.ล.ต. ได้นำส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน และพบการสร้างบัญชีม้า และการหลอกประชาชนให้เข้ามาลงทุน

ขณะที่การเอาผิดกับผู้กระทำผิดสร้างราคาหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน (มี.ค. 67) ทั้งหมด จำนวน 61 คดี มีจำนวนผู้กระทำผิด 241 ราย มูลค่าการปรับทางแพ่ง 1.5 พันล้านบาท และค่าชดใช้ 194 ล้านบาท หากนับเฉพาะในไตรมาส 1/27 มีกรณีผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างราคาหลักทรัพย์และอื่นๆรวมทั้งหมด 3 คดี

“ทั้งนี้ การทุจริตฉ้อโกงจะเห็นได้ว่ามีเข้ามาเป็นระยะ โดย ก.ล.ต. ได้มีการพิจารณากำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้น ก็ได้เข้าไปตรวจสอบ เช่น การสร้างราคาหุ้น การให้ข้อมูลภายใน หากเห็นรายการที่ทำธุรกรรมผิดปกติ ก็มีการดูแลพร้อมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ”