เปิดเงื่อนไข 7 แบงก์รัฐ ลดดอกเบี้ย 0.25% ใครได้สิทธิบ้าง เริ่ม 1 พ.ค.นี้

เงินฝาก ดอกเบี้ย

แบงก์รัฐผนึกกำลังในนามสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มพร้อมกัน 1 พ.ค. 67 ใครมีสิทธิบ้าง อัตราดอกเบี้ยหลังลดเหลือเท่าไหร่ ตรวจสอบเงื่อนไขที่นี่

วันที่ 30 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาคมสถาบันการเงินของรัฐได้มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล

สำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลดลง 0.25% ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR-Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR-Standard Profit Rate for Prime Retail Customer)

ทั้งนี้ ได้รวบรวมธนาคารของรัฐที่ร่วมลดดอกเบี้ย 0.25% อัตราดอกเบี้ยหลังลดเหลือเท่าไหร่ พร้อมรายละเอียดเงื่อนไขทั้งหมดดังนี้

ธนาคารออมสิน

ประกาศลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่ม คงเหลืออัตราดอกเบี้ย MRR (หลังปรับลด) = 6.595% เป็นอัตรา MRR ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
และเป็นการลดดอกเบี้ย MRR ครั้งที่ 2 ของปี’67 รวมดอกเบี้ย MRR ลดลงแล้ว 0.40% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 โดยดอกเบี้ยลดอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องติดต่อธนาคาร

Advertisment

ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป พร้อมช่วยเพิ่มรายได้จากการออมให้กับประชาชน ด้วยการจัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อปี เปิดบัญชีเงินฝากตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม-30 ธันวาคม 2567

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank)

ประกาศปรับลดดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี จากเดิม 8.05% ต่อปี ลดลงเหลือ 7.80% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. 67 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีบริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” ผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น สินเชื่อ “SME Refinance” ช่วยผู้ประกอบการ SMEs อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีแรกเพียง 2.99% ต่อปี วงเงินกู้ 5-50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี และปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน

Advertisment

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์) นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.15% ต่อปีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เพื่อเป็นของขวัญแก่ผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ EXIM BANK จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 0.40% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ SMEs

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.)

ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.25% ช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

ประกาศปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR) ลง 0.25% นาน 6 เดือน จากปัจจุบัน 8.50% ต่อปี เป็น 8.25% ต่อปี เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลา 6 เดือน โดยไอแบงก์ยังมีโครงการสินเชื่อบ้านมีหนี้ลด ซึ่งเป็นการรวมภาระหนี้ต้นทุนสูงมาอยู่ที่ไอแบงก์ที่เดียว

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนให้กับเกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบาง และ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชี ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงภาระต้นทุนทางการเงินของประชาชนและสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในขณะนี้ โดยสมาคมพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้น เพื่อบรรเทาภาระและช่วยเสริมสภาพคล่องในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น