ดอลลาร์แข็งค่า หลังเจ้าหน้าที่เฟดยืนยันดอกเบี้ยที่ระดับสูง

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/5) ที่ระดับ 36.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากกระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/5) ที่ระดับ 36.88/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 105.45 สวนทางการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หมุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดกลับมาอ่อนค่าทดสอบระดับ 154.80 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ตลาดจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่อไป

โดยนายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินนีแอโพลิส ได้แสดงความเห็นล่าสุดว่า เฟดอาจจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และตลาดที่อยู่อาศัยมีความแข็งแกร่ง ซึ่ง ณ ตอนนี้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PPI และ CPI ของสหรัฐในสัปดาห์หน้า ที่อาจกลับมากดดันบรรยากาศในตลาดได้หากตัวเลขยังออกมาสูงกว่าคาด

ในขณะเดียวกันตลาดยังจับตาสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ภายหลังคณะรัฐมนตรีสงครามของอิสราเอลมีมติเดินหน้าแผนการใช้ปฏิบัติการภาคพื้นดินโจมตีเมืองราฟาห์ ซึ่งเป็นจุดอพยพสำคัญที่มีชาวปาเลสไตน์จากพื้นที่ต่าง ๆ ของกาซา หนีการสู้รบเข้าไปอาศัยอยู่ หลังจากปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงที่ฮามาสให้การยอมรับก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทวีความรุนแรง อาจจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินและสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ดอลลาร์สหรัฐ และทองคำ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ด้าน รมว.คลังของไทยเผยเตรียมนัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดความเขาใจที่ดีและจบลงด้วยดี ถ้าทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของประเทศ ซึ่งส่วนตัวอยากให้ ธปท.ดูแลสถาบันการเงินให้มีสถานะการเงินที่เข้มแข็ง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.94-37.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/5) ที่ระดับ 1.0740/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/5) ที่ระดับ 1.0759/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้มีการเปิดเผยรายงานตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีอยู่ที่ -0.4% สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ -0.6% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0733-1.0756 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0748/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/5) ที่ระดับ 154.98/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/5) ที่ 154.58/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายอุเอดะผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงิน หากค่าเงินเยนอ่อนค่าจนเกินไปจนกระทบเงินเฟ้อ ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า BOJ จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากเงินเยนที่ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

โดยนายอุเอดะได้กล่าวว่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายทาง ซึ่งรวมถึงการทำให้ต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่ออุปสงค์สินค้าและการบริการ นอกจากนี้ ยังกล่าวว่าในขณะที่ BOJ ไม่ต้องการใช้นโยบายการเงินในการควบคุมความเคลื่อนไหวของเงินเยน โดย BOJ จะทำการตรวจสอบว่า การอ่อนค่าของค่าเงินเยนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้นำถ้อยแถลงล่าสุดของนายอุเอดะมาเปรียบเทียบกับคำแถลงของเขาที่กล่าวภายหลังการประชุมของ BOJ ในเดือนที่แล้ว

โดยในครั้งนั้นนายอุเอดะกล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบในทันทีต่อทิศทางเงินเฟ้อ นอกจากนี้เทรดเดอร์บางรายมองว่า การแสดงความเห็นของนายอุเอดะหลังการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ในเดือนที่แล้ว เนื่องจากทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ จะเลื่อนเวลาในการปรับขึ้่นอัตราดอกเบี้ยออกไป

Advertisment

ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของ BOJ อยู่ที่ 0-0.1% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 154.54-155.49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 155.30/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมีนาคม (8/5), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (8/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (9/5) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (10/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.10/9.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.95/-5.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ