ธ.ก.ส.เข้มปล่อยกู้ SMEs เกษตร ผวารากหญ้าหนี้เสียพุ่งลั่นคุมเอ็นพีแอล 4%

อภิรมย์ สุขประเสริฐ

ธ.ก.ส. ระวังปล่อยกู้เกษตรกร-เอสเอ็มอี หวั่นเอ็นพีแอลทะลัก ชี้ผู้มีรายได้น้อยก่อหนี้เกือบเต็มเพดาน เร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าเดิมก่อนปล่อยกู้ให้ ส่วนเอสเอ็มอีกลุ่มแปรรูปยังเสี่ยง สั่งศูนย์ลูกค้าเอสเอ็มอีเกาะติดลูกค้ารายเดือน ลั่นคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 4%

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส.ในปีบัญชี 2561 (เม.ย. 2561-มี.ค. 2562) นี้ ธนาคารค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยกู้ให้แก่เกษตรกร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเอสเอ็มอีเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เป็นลูกค้าเก่าที่มีราว 1.5 ล้านราย ที่มีภาระหนี้เกือบเต็มเพดานแล้ว ทำให้ศักยภาพการผ่อนชำระมีค่อนข้างจำกัด และเป็นกลุ่มที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูง

โดย ณ สิ้นปีบัญชี 2560 (31 มี.ค. 2560) กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมี NPL สูงกว่า 4% ถือว่าอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มเกษตรกรทั่วไป ขณะที่ NPL รวมของธนาคารอยู่ที่ 4.3% ซึ่งจะคุมให้เหลือไม่เกิน 4% ภายในสิ้นปีบัญชี 2561

“ธนาคารต้องคุมการปล่อยกู้ใหม่ให้แก่ลูกค้าเก่า เพราะต้องรอให้เขากำจัดหนี้เก่าก่อน ส่วนลูกค้าใหม่ เราก็ยังเปิดรับและปล่อยสินเชื่ออยู่ ถ้าดูแล้วเขามีภาระหนี้ไม่สูงเกินไป ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามีการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก เพื่อปลดภาระหนี้ และเบาตัวขึ้น เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ยืดเวลาชำระไปถึง 7 ปี จากเดิมที่ให้น้อยกว่านี้ นอกจากนี้ยังต้องไปดูว่ามีลูกค้า ธ.ก.ส.อีกเท่าไหร่ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้เขา โดยให้ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้” นายอภิรมย์กล่าว

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในปีนี้ ธ.ก.ส.คาดว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 4% จากยอดสินเชื่อคงค้างของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ 2.8 แสนล้านบาท (ณ สิ้นปีบัญชี 2560)

นายอภิรมย์กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีเกษตร ก็เป็นอีกกลุ่มที่ธนาคารต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าการเกษตร เนื่องจากการให้กู้กับธุรกิจเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มเกษตรกรทั่วไป เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ขอกู้วงเงินค่อนข้างสูง และเอสเอ็มอียังมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก จากการซื้อขายสินค้าทางการเกษตรที่ราคาผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน NPL กลุ่มเอสเอ็มอีเกษตรยังไม่สูงมากอยู่ที่ 0.6% ของสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างที่ 9.6 หมื่นล้านบาท (ณ สิ้นปีบัญชี 2560) ซึ่งในปีบัญชี 2561 นี้ ธนาคารตั้งเป้าคุมไม่ให้เกินระดับ 1%

“สินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้ เราก็ต้องดูมากขึ้น ทั้งกระแสเงินสด เงินเข้าเงินออก โดยได้ให้นโยบายกับศูนย์ธุรกิจลูกค้าเอสเอ็มอีของ ธ.ก.ส.เข้าไปดูแลเอสเอ็มอีมากขึ้น ทั้งเข้าไปเยี่ยมลูกค้าทุกเดือน ทั้งลูกค้าที่พบว่ามีปัญหา และส่อว่าจะมีปัญหา เพื่อชะลอการเกิด NPL ใหม่ ซึ่งปีนี้เราตั้งใจคุมไม่ให้ NPL เกิน 1% ปัจจุบันนี้การปล่อยกู้เอสเอ็มอี แบงก์ก็คิดดอกเบี้ยต่ำ มาร์จิ้นน้อย และปัญหาก็เยอะกว่ากลุ่มอื่น ๆ” นายอภิรมย์กล่าว

ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวด้วยว่า การปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเกษตรในปีบัญชีนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายเข้าไปปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนที่ 7.8 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะมียอดปล่อยสินเชื่อสุทธิปีนี้ที่ราว 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของธนาคาร ณ สิ้นปีบัญชี 2561(สิ้น มี.ค. 2562) เพิ่มเป็น 1.4 แสนล้านบาทได้