หุ้นไทยแพ้ ตปท.ขึ้นแรง 20% คนไทยแห่ลงทุน-ชูออก DR อิงบ.ต่างชาติ

7 เดือนแรก ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านโชว์ผลตอบแทนพุ่ง 20% นักลงทุนไทยหนีเล่นหุ้นในต่างประเทศโกยกำไร ฟาก “นายก ส.โบรกฯ” รอหารือ ตลท.ออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ คาดคืบหน้าครึ่งปีหลัง ลดชั้นตอน “เปิดบัญชีหุ้นใน ตปท.-อัตราแลกเปลี่ยน” ด้านตลาดหลักทรัพย์ รับลูก เผยมีหลักเกณฑ์รองรับพร้อมแล้ว

นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (1 ม.ค.-28 ก.ค. 2560) พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นในต่างประเทศ หลายแห่งปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูง โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย 22.4% ฮ่องกง 21.8% เวียดนาม 15.6% แต่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นเพียง 2.47% นักลงทุนจึงออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

“ตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งยังคงน่าลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลงไปค่อนข้างมาก และคาดว่านักลงทุนก็คงสนใจในตลาดนี้ เพราะแนวโน้มเงินเยนจะยังคงอ่อนค่า ซึ่งเอื้อต่อบริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะธุรกิจส่งออก เพราะเมื่อค่าเงินเยนอ่อนจะทำให้สามารถขายของได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทญี่ปุ่นที่มีสาขาและธุรกิจในต่างประเทศ จะได้รับอานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าด้วย เพราะเมื่อสวอปเงินจากประเทศอื่น ๆ มาเป็นเงินเยน ก็จะได้เงินมากขึ้น ซึ่งจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจมาก” นายอิสระกล่าว

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนไทยสนใจไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ทำให้สร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างยากมานาน โดยตลาดหุ้นที่นักลงทุนนิยมลงทุนมากที่สุด 3 อันดับ แรก ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และฮ่องกง

สำหรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้น จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การลงทุนกองทุนอีทีเอฟ ซึ่งมีการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ที่ให้ผลตอบแทนดี, การลงทุนในหุ้นโดยตรงของประเทศนั้น ๆ และการลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เป็นต้น

Advertisment

“การออกไปลงทุนหุ้นโดยตรงของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ นักลงทุนมักจะเลือกซื้อหุ้นที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่างเช่น Apple, Google ฯลฯ ซึ่งตอนนี้เรามีนักลงทุนที่เปิดพอร์ตเพื่อลงทุนต่างประเทศแล้วราว 200-300 บัญชี ในจำนวนนี้มีบัญชีที่ซื้อขายสม่ำเสมอ 30% และเม็ดเงินที่ออกไปลงทุนแต่ละครั้งก็จะอยู่ที่ราว 5 แสนบาทต่อครั้ง โดยครึ่งปีหลังคาดว่าแนวโน้มการลงทุนต่างประเทศน่าจะยังดี เพราะปลายปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยคงไปไม่เกิน 1,650 จุด ดังนั้นนักลงทุนน่าจะมองหาโอกาสในประเทศอื่น ๆ” นางภัทธีรากล่าว

นอกจากนี้ นางภัทธีรา ได้กล่าวในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ว่า มีแผนจะหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับการออกตราสารชนิดใหม่ เพื่อรองรับนักลงทุนไทยที่สนใจออกไปลงทุนต่างประเทศ นั่นคือ ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ Depositary Receipt (DR) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ จะทำหน้าที่เป็นผู้ออก DR ที่อ้างอิงกับหุ้น หรืออีทีเอฟ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศชั้นนำของโลก รวมทั้งหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนใน DR ได้คล่องตัว โดยไม่ต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือยุ่งยากกับอัตราแลกเปลี่ยน

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดทางให้เสนอขาย DR ได้แล้ว แต่ยังไม่มีโบรกเกอร์ออกมาทำตราสารดังกล่าว อาจเป็นเพราะต้นทุนในการออกหลักทรัพย์ชนิดนี้ค่อนข้างสูง เพราะโบรกเกอร์จะต้องซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ใช้สำหรับอ้างอิงบางส่วนก่อนที่จะออก DR เช่นเดียวกับการออกตราสารประเภท ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ดังนั้นจึงยังไม่ได้มีการเริ่มเสนอขายตราสารประเภท DR เกิดขึ้น