กรมศุลชูระบบออนไลน์คืนภาษี หนุนตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า-ขาออก

อธิบดีกรมศุลฯเร่งพัฒนาระบบคืนภาษีผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าส่งออก เตรียมนำระบบออนไลน์มาใช้ตรวจสอบ “แมตชิ่ง” ใบขนสินค้าขาเข้า-ขาออกก่อนคืนอากร แทนระบบปัจจุบันที่ต้องใช้คนเช็กใบขนสินค้า ขณะที่ยอดคืนอากรปีงบประมาณ 2560 ลดฮวบเหลือกว่า 7 พันล้าน จาก 2 ปีก่อนหน้าคืนปีละ 1.7 หมื่นล้าน

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมศุลกากรอยู่ระหว่างจัดทำระบบคืนอากรออนไลน์อยู่ เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็ว เพียงแต่การจัดทำระบบจะต้องทำให้เกิดความรัดกุมมากที่สุด ไม่เช่นนั้นจะเกิดช่องว่างให้เกิดการโกงได้

“กรมจะเร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพียงแต่จะต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างที่จะโกงกัน โดยการพัฒนาระบบอาจจะใช้ได้ในปีงบประมาณ 2562” นายกุลิศกล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด กรมศุลกากรได้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนงาน ที่เดิมชื่อ “ส่วนคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ” เป็น “ส่วนคืนอากรเพื่อการส่งออก” เนื่องจากภายใต้กฎหมายฉบับปัจจุบัน พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 การคืนอากรลักษณะดังกล่าวจะอยู่ในมาตรา 29 ซึ่งเป็นการคืนเงินอากรขาเข้าที่ผู้นำของเข้า (ผู้มีสิทธิขอคืนอากร) ที่ได้ชำระไว้ สำหรับของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิต หรือผสม หรือประกอบ หรือบรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด แล้วส่งออกไป

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อส่วนงานก็เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย ขณะที่การคืนอากรออนไลน์นั้นจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะเป็นการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยตรวจสอบ อย่างไรก็ดี การพัฒนาระบบต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่

“ปัจจุบันการคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ ต้องนำใบขนสินค้าขาออก กับใบขนสินค้าขาเข้ามาแมตชิ่งกัน ต้องใช้เจ้าหน้าที่ดูในรายละเอียดว่าในใบขนแต่ละใบมีอะไรบ้าง วัตถุดิบที่นำเข้ามาแล้วนำมาใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากดูแล้วแมตช์กัน ผู้ส่งออกก็จะได้รับอากรคืน อาจจะเป็นเงินสด หรือหลักทรัพย์ที่วางค้ำประกันไว้” นายชัยยุทธกล่าว

ทั้งนี้ การคืนอากรดังกล่าวเป็นการคืนค่าภาระอากร สำหรับวัตถุดิบที่นำเข้า ได้แก่ อากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ๆ ที่ผู้นำของเข้าได้เสียหรือวางประกันไว้ ด้วยเงินสด และใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือระบบ e-Guarantee หรือหนังสือค้ำประกันของกระทรวงการคลัง ขณะนำเข้า ซึ่งเมื่อพิสูจน์ได้ว่าได้นำวัตถุดิบนั้นไปผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออก ก็จะได้รับการคืนอากร โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตส่งออกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้นำเข้า และต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา มีการคืนภาษีอากรตามมาตรา 19 ทวิ (เดิม) เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 7,856.22 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2559 ที่มียอดคืนอากรทั้งสิ้น 17,227.64 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2558 ที่มียอดคืนอากรทั้งสิ้น 17,439 ล้านบาท

โดยคืนอากรในปีงบประมาณ 2560 แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมได้ ดังนี้ 1) อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จำนวน 3,138.84 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.95% ของจำนวนเงินที่คืนอากรตามมาตรานี้ทั้งหมด 2) ยานยนต์และส่วนประกอบ จำนวน 1,828.84 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.28%

3) เคมีภัณฑ์และพลาสติก จำนวน 1,758.66 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.39% 4) เครื่องจักร เครื่องใช้กล หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 438.62 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.58% 5) สิ่งทอและเครื่องหนัง จำนวน 348.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.44% และ 6) โลหะ ของทำด้วยโลหะ และเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ จำนวน 342.82 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.36%