บาทอ่อนค่าตามเงินทุนไหลออก

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/6) ที่ 32.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/6) ที่ 32.41/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กได้เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวสูงขึ้น 4.9 จุด สู่ระดับ 25 ในเดือนมิถุนายน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวต่ำลง ซึ่งการที่ดัชนียังคงยืนอยู่เหนือระดับ 0 นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าภาคการผลิตในนิวยอร์กยังคงขยายตัวอยู่ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน หลังจากทำเนียบขาวออกมาประกาศบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 25% เพื่อตอบโต้การที่จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ในขณะที่รัฐบาลจีนโต้กลับด้วยการเปิดเผยบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่จะถูกเรียกเก็บภาษี 25% เช่นกัน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐสภาจีนและคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการศุลกากรแห่งรัฐสภาจีน ได้ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐจำนวน 659 รายการ โดยเรียกเก็บในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากถ้อยคำแถลงของสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อวานนี้ โดยนายราฟาเอล บอสติค ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างดี ซึ่งจะทำให้เฟดสามารถเดินหน้าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี นายบอสติคสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งแตกต่างจากกรรมการเฟดส่วนใหญ่ที่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประกอบกับสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองร่วงลง 0.4% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายเดือนสู่ระดับ 5.43 ล้านยูนิต โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ถูกกระทบจากภาวะขาดแคลนบ้านในตลาด และอัตราดอกเบี้ยจำนองที่พุ่งขึ้นนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดขายบ้านเพิ่มขึ้น 1.5% สู่ระดับ 5.52 ล้านยูนิตในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านมือสองลดลง 3.0% ในเดือน พ.ค. โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 สต๊อกบ้านในตลาดลดลง 6.1% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 36 นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยของบ้านเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 264,800 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 75 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ว่าการธนาคารกลางรายใหญ่ ๆ ของโลก ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และคาดว่าจะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ประเด็นการค้าเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยขณะนี้เริ่มมีบริษัทเอกชนตัดสินใจเลื่อนการลงทุนและการจ้างงานบ้างแล้ว

ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (20/6) มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อปี โดยมีเพียง 1 เสียงที่เสนอให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้แล้ว กนง.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 มาอยู่ที่ระดับ 4.4% จากเดิมที่คาดไว้ 4.1% และในปี 2562 ปรับเพิ่มเป็นเติบโต 4.2% จากเดิม 4.1% เนื่องจาก กนง.คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ถึง 9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 7% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.69-33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (22/6) ที่ระดับ 32.94/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (18/9) ที่ระดับ 1.1579/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาด (15/6) ที่ 1.1607/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังค่าเงินดอลลาร์ดีดตัวสูงขึ้น ทางสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปหรือยูโรสแตท เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน ยูโรโซนมียอดเกินดุลการค้า 1.81 หมื่นล้านยูโร ลดลงจากระดับ 1.98 หมื่นล้านยูโรในเดือนมีนาคม ในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจากถ้อยคำแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) นายมาริโอ ดรากี ที่กล่าวว่า ECB จะพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1515-1.1644 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (22/6) ที่ระดับ 1.1642/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (18/6) ที่ระดับ 110.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (15/6) ที่ระดับ 110.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยนั้นได้รับอานิสงส์จากความกังวลของตลาดในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และในวันนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้า 5.783 แสนล้านเยน (5.2 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ยอดส่งออกในเดือนพฤษภาคมขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 14% ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนมีกรอบเคลื่อนไหวระหว่าง 109.58-110.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดวันศุกร์ (22/6) ที่ระดับ 11.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”